STEC ยืนราคางานรถไฟฟ้าสีแดงสัญญา 1 ไม่ห่วงยกเลิก-เชื่อ Backlog สูงหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 4, 2012 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการ สายงานการเงินและบริหาร บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย STEC และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(UNIQ) ยืนยันการเสนอราคางานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ในส่วนสัญญาที่ 1 แม้ว่าผลการเจรจาต่อรองจะยังสูงกว่าราคากลาง

ทั้งนี้ กลุ่ม SU เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าราคากลางที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และไม่สามารถลดราคางานให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบและไม่หนักใจที่จะไม่ได้งานโครงการดังกล่าว เพราะขณะนี้งานในมือ(backlog)มีมูลค่าสูงมากแล้ว

"เขายังไม่ยกเลิกอย่างเป็นทางการ เรายืนราคาไป เพราะเราเคยทำแอร์พอร์ตลิงก์แล้วเจ๊งไปทีหนึ่งแล้ว โดยงานที่ได้บริษัทร่วม 60% เท่ากับได้งาน 2 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่ได้ทำงานนี้ไม่ได้ซีเรียส เพราะงานในมือเรามีถึง 4.9 หมื่นล้านบาท ทำได้ 3 ปี...ถ้ารับเอาเข้ามาใหม่แล้วขาดทุน เราไม่ทำ"นายวรพันธ์ กล่าว

อนึ่ง เมื่อบริษัทไม่รับงานโครงการสัญญาที่ 1 ของรถไฟสายสีแดง เท่ากับไม่ได้รับสิทธิในการรับงานของสัญญที่ 2 ด้วย

นายวรพันธ์ คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะได้งานใหม่เข้ามา 2 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาส 2/55 ได้งานใหม่ 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นงานป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และงานเพิ่มเติมของบริษัทเอกชนอีกกว่า 400 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 1.9 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้รับในครึ่งปีหลังหรือช่วงไตรมาส 3/55 และไตรมาส 4/55 ที่ทางการจะเปิดการประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.5 กม.มูลค่าประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท และช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม.มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ มีสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ที่คาดว่าจะใช้ระบบโมโนเรล ระยะทาง 36 กม. มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

"สายสีเขียวเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้ว แต่คิดว่าครึ่งปีหลังจะมีการประมูลกันอย่างน้อย 2 สาย เพราะใกล้ปิดงบประมาณ"นายวรพันธ์ กล่าว

นายวรพันธ์ คาดว่า บริษัทจะมีกำไรสุทธิในปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่มีกำไร 903.5 ล้านบาท เนื่องจากตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน 1.4 หมื่นล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)จะสูงขึ้นมาที่ 8.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 8.3% แม้ว่าบริษัทจะรับผลกระทบจากค่าแรงงานสูงขึ้น โดยคิดเป็นต้นทุน 20% ของต้นทุนรวม แต่บริษัทจะพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย และบางส่วนได้สั่งเครื่องจักรเข้ามาเพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งปีนี้ลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้เจรจาต่อรองซัพพลายเออร์เพื่อสั่งวัสุดุก่อสร้างไว้แล้ว เหล่านี้ช่วยทำให้เพิ่มมาร์จิ้น่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ