บลจ.ทิสโก้ ออกกองทุนหุ้นเอเชียแปซิฟิก ตั้งเป้าทำกำไร 10%ใน 4 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 9, 2012 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุนธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า บลจ.ทิสโก้ เปิดเสนอขาย "กองทุนเปิด ทิสโก้ เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน ทริกเกอร์ 10% #6 (TISCO Asia Pacific ex Japan Trigger 10% #6) มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท

กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว(Feeder Fund) โดยตั้งเป้าทำกำไรที่ 10% ภายในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน สามารถปิดกองคืนเงินผู้ถือหน่วยลงทุนได้ก่อนครบกำหนดหากทำกำไรได้ 10% หรือหากหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 11.10 บาท โดยจะเสนอขายเพียงครั้งเดียว (ไอพีโอ) ในระหว่างวันที่ 9 -18 พฤษภาคม 2555 มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 20,000 บาท

ทั้งนี้ กองทุนจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Lyxor ETF MSCI AC Asia-Pacific ex Japan (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ประเภทกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี MSCI AC Asia-Pacific ex Japan บริหารและจัดการโดย Lyxor International Asset Management โดยกองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุน Lyxor ETF MSCI AC Asia-Pacific ex Japan โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

"เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องประกอบกับราคาหุ้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ตลาดหุ้นเอเชียยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ทาง บลจ.ทิสโก้จึงเห็นว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเปิดเสนอขาย "กองทุนเปิด ทิสโก้เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน ทริกเกอร์ 10% กองที่ 6"เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงถึง10% ในระยะเวลา 4 เดือนและมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน" นายสาห์รัช กล่าว

นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังต้องเผชิญกับความปัจจัยผันผวนโดยเฉพาะในยุโรปที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากผลการเลือกตั้งของกรีซที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โดยอาจทำให้การจัดทำมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรับเงินช่วยเหลือของกรีซจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปโดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กในสเปน ขณะที่สัญญาณบวกในตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาเริ่มชะลอลง

ส่วนของภูมิภาคเอเชียยังคงมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งโดยเศรษฐกิจจีนจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีโดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้และน่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2013

สำหรับเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 5%อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 3.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ 3%แต่มีความเสี่ยงที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อัตราเงินเฟ้ออาจมีการเร่งตัวมากขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่ 4

ด้านนางสาววรสินี สังวรเวชภัณฑ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการจัดการลงทุน บลจ. ทิสโก้ กล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาถือว่าสามารถให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มมีการปรับฐานลงมา เนื่องจาก P/E มีการปรับเพิ่มขึ้นและในตลาดได้รับรู้ข่าวดีไปหมดแล้ว ขณะที่การถือครองเงินสดของผู้จัดการกองทุนเริ่มอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยซึ่งอาจทำให้มีการขายสินทรัพย์เพื่อถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้น โดยภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชีย โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจเอเชียจะมีการขยายตัวมากกว่า 7%ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก และจากในหลายประเทศได้ส่งสัญญาณการผ่อนคลายด้านการเงิน เช่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เป็นต้น จะเป็นปัจจัยสนุนสนับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ