MFC คาดครึ่งปีหลังหุ้นไทยดีดตัวขึ้นหลังต่ำสุดในมิ.ย.มองเป้าดัชนี 1,265

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 6, 2012 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.เอ็มเอฟซี(MFC)มองครึ่งหลังปี 55 หุ้นไทยปรับขึ้นหลังมิ.ย.นี้ ข่าวร้ายยุโรปกดดันตลาดผ่านพ้นไป คาดสิ้นปีนี้ดัชนีไปถึง 1,265 จุด เชื่อไม่หลุด 1,000 จุด ขณะที่เงินต่างชาติยังอยู่หุ้นไทยถึง 6.5 หมื่นล้านบาทได้ปัจจัยภาวะเศรษฐกิจไทยโตแข็งแกร่งหนุน

นายชาคริต บรรพโต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยณะนี้ได้รับปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการแก้ไขหนี้ของกรีซ ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง 17 มิ.ย.นี้ โดยโพลก่อนการเลือกตั้งระบุว่าพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลจะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่และจะยังรับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูและไอเอ็มเอฟอยู่

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาไม่ค่อยดี อีกทั้งในเดือนพ.ค.ที่ผ่ามานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หุ้นในกลุ่ม SET50 ปรับตัวลงเพราะมีการเทขายทำกำไรออกมา

นายชาคริต คาดว่า ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังจะปรับตัวขึ้น จากการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศที่คาดไว้ในระดับ 5.5-6% ในปีนี้ โดยการบริโภคภายในยังแข็งแกร่งต่อเนื่องในไตรมาส 2/55 และไตรมาส 3/55 ขณะที่กำไรสุทธิ (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้เติบโต 18% อีกทั้งคาดว่าปัญหากรีซจะเริ่มคลี่คลาย และเชื่อว่าอียูจะเข้ามาช่วยให้กรีซยังคงสถานะภาพการแป็นสมาชิกไว้

ในระยะสั้น หรือภายในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าตลาดหุ้นมีความผันผวน มองแนวรับที่ระดับ 1,070 จุด P/E 11 เท่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้าย อาจจะทำให้ตลาด Panic ก็เชื่อว่าตลาดหุ้นจะไม่หลุดระดับ 1,000 จุด ซึ่งมี P/E 10.5 เท่า แต่ในระยะกลาง (3-6 เดือน) ตลาดจะปรับขึ้นไปได้ เพราะมองว่าหุ้นไทยราคาไม่แพง เมื่อเที่ยบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

"ดัชนีที่ MFC มองปลายปีนี้ที่ 1,265 จุด P/E 13 เท่า ปัจจุบันอยู่ที่ 1,110 จุด ก็ยังมี upside 13%...ให้เน้นห้นุกล่มที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในและกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง " นายชาคริต กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 55 จะอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 3% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการเมืองในประเทศยังต้องติดตาม หลังจากมีความพยายามเสนอกฎหมายปรองดอง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ รวมทั้ง ปัจจัยหนี้สินในยุโรป ยังไม่มีแนวทางแห้ไขและขยายวงออกไป และความไม่มีเสถียรภาพของสถบันการเงินกลับมาอีกครั้งที่อาจทำให้เกิด Panic และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ