ธปท.ระบุฐานะทางการเงิน KTB อยู่ในเกณฑ์ดี ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 6, 2012 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ธนาคารกรุงไทย(KTB) จะเพิ่มทุน โดยพิจารณาจากฐานะเงินกองทุนยังอยู่ในระดับที่ดี เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น แม้การปล่อยสินเชื่อระบบธนาคารที่เติบโตค่อนข้างเร็วในขณะนี้อาจจะกระทบเงินกองทุนให้ลดลงบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะธนาคารแต่ละแห่งก็สามารถดูแลตัวเองอยู่แล้ว

"ตอนนี้เงินกองทุนของแต่ละแบงก์ก็แข็งแกร่งสูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด แต่หากจะทำอะไรก็เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคตมากกว่า"นายเกริก กล่าว

จากการติดตามการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพารณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าแม้จะขยายตัวสูง แต่คงไม่สามารถระบุลงไปชัดเจนได้ว่าเป็นการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี) เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อส่วนหนึ่งนำไปใช้ลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ ส่วนนี้ไม่ได้นับรวมกับจีดีพีของประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศถือเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอาจจะเห็นต่อเนื่องไปอีก แต่โดยรวมไม่ได้สร้างความเสียหาย ขณะที่การปลอ่ยสินเชื่อโดยรวมยังอยู่ในประเทศ

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในระบบธนาคารอยู่ระดับ 2.9% อาจมีการลดลงบ้างในบางช่วง แต่โดยรวมยังถือว่าเป็นระดับที่ดี

นายเกริก ยังกล่าวถึง การขยายการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยในพม่าว่า ขณะนี้มีจำนวนธนาคาร 4 แห่ง ที่ขอเปิดสำนักงานตัวแทนในพม่า ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารกรุงไทย(KTB) และ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) โดยมองว่าทั้งหมดเป็นธนาคารพาณิชย์ที่สามารถเป็น International Bank ส่วนแบงก์ขนาดกลางเล็กคงไม่เหมาะสมเข้าไปทำธุรกิจที่พม่าได้

ทั้งนี้ มองว่า การทำธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารพาณิขย์ของไทยคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรม สังคม รวมถึงตลาด ดังนั้น แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการขยายธุรกิจในพม่า คือการเข้าไปมี Business Partner เพราะหากร่วมมือกับธุรกิจท้องถิ่นที่มีความเข้าใจและรู้จักตลาดได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การไปเปิดสำนักงานตัวแทนของแบงก์ไทยขณะนี้ หากพม่าเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใดๆ ก็ไม่กระทบต้นทุนของธนาคาร เพราะมีต้นทุนการเปิดสำนักงานตัวแทน 4 ล้านบาทเท่านั้น

และการเปิดสำน้เกงานต้วแทนโดยที่ยังไม่มีการทำธุรกรรมได้ จะเป็นการให้แบงก์ไทยเพื่อเตรียมความพร้อม ศึกษาตลาดในพม่า ทังการค้าการบริการ การลงทุนต่างๆ ซึ่งหากกฎระเบียบของพม่าเปิดกว้างมากขึ้น แบงก์ไทยก็มีโอกาสขยายธุรกิจในลักษณะร่วมทุน หรือหาพันธมิตรธุรกิจ หลังจากจึงจะเปิดสาขาได้เต็มตัว

นอกจากนี้ ธปท.ได้เซ็นเอ็มโอยูกับธนาคารกลางพม่า เมื่อปลายมิ.ย.ทีผ่านมา เพื่อให้ความร่วมมือพัฒนาและให้ข้อมูลด้านวิชาการ ทั้งเรื่องกำกับดูแลสถาบันการเงิน การพัฒนาระบบชำระเงิน ด้านการจัดการพันธบัตร รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของธนาคารกลางพม่า ซึ่งธปท.ได้ช่วยเหลือวางระบบต่างๆให้ธนาคารกลางพม่า ซึ่งเป็นระบบที่ไทยคุ้นเคย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการเอื้อต่อการค้าการลทุนของไทยในพม่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ