BCP เจรจากลุ่มPTTร่วมบริหารจัดการน้ำมันดิบ-สำเร็จรูปช่วงซ่อมหน่วยกลั่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 10, 2012 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ แสงอิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) เปิดเผยว่า บริษัทได้ข้อสรุปแผนบริหารจัดการน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงที่ปิดซ่อมแซมโรงกลั่นในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้แล้ว โดยจะอาศัยเครือข่ายในกลุ่มปตท.มาช่วยเหลือทั้งในด้านการรับน้ำมันดิบตามออร์เดอร์ตกค้างไปบริหาร และซัพพลายน้ำมันสำเร็จรูป พร้อมกันนั้นก็จะเลื่อนการรับมอบน้ำมันดิบจากต่างประเทศล็อตใหม่ออกไปก่อน

ทั้งนี้ การบริหารจัดการในส่วนแรก คือ ส่วนน้ำมันดิบ โดยน้ำมันดิบที่ได้สั่งซื้อไปตั้งแต่ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ปริมาณหลายแสนบาร์เรลและมีกำหนดรับมอบไปแล้วนั้น บมจ.ปตท.(PTT)รับไปบริหารจัดการให้ทั้งหมด ขณะที่น้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศให้เลื่อนการรับมอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 เดือน โดยเป็นการรับซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน และออสเตรเลีย เป็นหลัก

และน้ำมันดิบที่รับซื้อจากแหล่งในประเทศ คาดว่าวันศุกร์นี้หรืออย่างช้าวันจันทร์ในสัปดาห์หน้า หอกลั่นที่ 2 ที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้จะกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ กำลังการกลั่น 4 หมื่นบาร์เรล/วัน เมื่อรวมกับหน่วยกลั่นสุญญากาศและหน่วยไฮโครแครกเกอร์ที่มีกำลังการกลั่น 5 พันบาร์เรล/วัน ก็จะสามารถรับน้ำมันดิบไปได้รวม 4.5 หมื่นบาร์เรล/วัน

ปัจจุบัน BCP รับน้ำมันดิบในประเทศจากแหล่งสิริกิติ์ แหล่งสุโขทัยและแหล่งเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นน้ำมันดิบโลว์ซํลเฟอร์ เมื่อกลั่นแล้วจะได้ผลิตน้ำมันเตาเกรดพิเศษที่ลูกค้าในญี่ปุ่นต้องการ ดังนั้นก็จะทำให้การส่งออกน้ำมันเตาไปญี่ปุ่นทำได้ตามปกติ

ส่วนที่ 2 คือ น้ำมันสำเร็จรูป แบ่งเป็นการสั่งซื้อจากโรงกลั่นในประเทศ ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์(TOP) บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) บมจ.โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม เบื้องต้นจะจัดซื้อราว 40-50 ล้านลิตร อีกส่วนจะนำเข้ามาในเดือนนี้จากสิงคโปร์ 50 ล้านลิตร ส่วนเดือนหน้าจะสั่งเข้ามาอีก 70-100 ล้านลิตร ซึ่งจะเน้นเบนซิน-ดีเซลเป็นหลัก รวมทั้งน้ำมันอากาศยาน

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า บริษัทยังมีสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ในคลังประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอใช้ได้ไปอีกระยะหนึ่ง จึงไม่น่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันขึ้น

สำหรับการทำความเข้าใจกับชุมชนรอบโรงกลั่นหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ขณะนี้ไม่มีข้อร้องเรียนเข้ามา โดยชุมชนต่างก็เข้าใจดี ขณะนี้บริษัทก็ได้เจรจากับทางกทม.เพื่อขอแบ่งซื้อที่ดินติดโรงงานไม้อัดราว 10 ไร่ ซึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่จะเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนด้านทิศใต้กับโรงกลั่น ส่วนชุมชนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัทก็พร้อมจะรับซื้อที่ดินหากมีความประสงค์จะขาย

พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วยดูเรื่องการบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงกลั่นเพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้นไปอีกให้ถึง 100%ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ