กสทช.ตั้งอนุทำงานฯสอบ"บีเอฟเคที"เข้าข่ายทำธุรกิจเลี่ยงไลเซนส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 17, 2012 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ที่ คณะกรรมการโทรคมนาคม(กทค.)มีความเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 67 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่ง กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลใช้อำนาจตามมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มีคำสั่งเร่งรัดให้บมจ.กสท โทคมนาคม (CAT) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยต้องทำให้กสทฯ ควบคุมดูแลและบริหารจัดการคลื่นได้อย่างสมบูรณ์

ถ้าไม่ดำเนินการจะถือว่า บีเอฟเคที เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมบางส่วนของ กสทฯ ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 67 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

"คณะอนุทำงานจะต้องตรวจสอบว่าการตั้งบริษัทลูกของบีเอฟเคทีและการดำเนินของ บีเอฟเคที ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ นั้น มีเจตนาหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่ามีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนของคดีอาญาต่อไป เพราะถือว่ามีความผิด โดยคณะอนุทำงานจะต้องส่งรายละเอียดและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้บอร์ด กทค.รับทราบและพิจารณาในอีก 30 วัน โดยนับจากวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา" นายฐากร กล่าว

ส่วนความคืบหน้าหลังจากที่ กทค. มีมติให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม แก้ไขสัญญา 3 จี HSPA บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ ที่ได้ทำไว้กับกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสัญญาได้ระบุว่าขัดต่อมาตรา 46 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น ล่าสุดสำนักงานได้ตั้งนายองอาจ เรืองรุ่งโสม ผู้อำนวยการกลุ่มงาน (บ2) กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กม1 เป็นประธานคณะอนุทำงานเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของการปรับแก้สัญญา ทั้ง 6 ข้อ

ทั้งนี้ ข้อ 1.กสทฯ ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิร์ตซ ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของกสทฯ หรือของบริษัทอื่นได้ 2.กสทฯ ต้องควบคุมดูแลและบริหารจัดก รเน็ตเวิร์ก โอปอเรเตอร์ เซ็นเตอร์) อย่างสมบูรณ์ 3.ข้อมูลการใช้งาน ต้องอยู่ในความครอบครองของ กสทฯ 4. อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานตามสัญญาต้องมีความชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ กสทฯ

5. กระบวนการสร้างและจัดหาความจุของ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จะต้องแสดงให้เห็นว่า กสทฯ เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจในเรื่องแผนคลื่นความถี่ แผนการขยายโครงข่าย และการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ และ 6.กสทฯ ต้องเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น ให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ภายใน 30 วัน โดยนับวันที่ กทค.ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.55 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ