PRANDA คาดรายได้ใน Q2/55 ทรงตัว,ปรับกลยุทธตลาดเอเชีย-อาเซียนรับ AEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 8, 2012 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดุษิต จงสุทธนามณี กรรมการการเงิน บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่(PRANDA)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า รายได้ในไตรมาส 2/55 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ที่ 796 ล้านบาท แต่คงไม่ดีกว่าไตรมาส 1/55 ที่มีรายได้ 966 ล้านบาท เนื่องจากปกติการทำรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1 และ 4 ขณะที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วง Low season

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าในช่วงครึ่งหลังปี 55 รายได้จะสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นฤดูกาลใช้จ่าย และทั้งปีบริษัทยังคงเป้ารายได้เติบโต 5% แต่อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)คาดว่าจะสูงขึ้นมาที่ 34% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 32% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาทองคำที่ปรับลดลง

"ในปีนี้เรายังใช้นโยบายที่ยังคงตลาดเดิมๆ แต่เน้นเพิ่ม line สินค้าให้มากขึ้น...ยังไม่มีแผนขยายตลาดใหม่ แต่พยายามรักษาตลาดเดิม และดูแลสภาพคล่องกิจการ"นายดุษิต กล่าว

ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทมาจากตลาดในแถบเอเซีย รวมถึงตลาดในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ที่ 35% โดยปีนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศจีนและอินเดีย รวมทั้งจะเริ่มเปิดตลาดในอินโดนีเซีย โดยในจีนมีการปรับโครงสร้างธุรกิจจากเดิมจะมีโรงงานและร้านค้าปลีก ก็จะลดขนาดโรงงานลงและเพิ่มร้านค้าปลีก

นายดุษิต กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตในจีนไม่แตกต่างจากไทยทั้งในแง่ของภาษีและค่าแรงงาน ปัจจุบันแรงงานในจีนมีการปรับขึ้นค่าแรงอยู่ระดับใกล้เคียงค่าแรงในไทย ขณะที่การบริหารจัดการในประเทศจะง่ายกว่า จึงตัดสินใจหันมาเพิ่มร้านค้าปลีกแทน โดยตั้งเป้าจะเปิดร้านค้าในเสิ่นจิ้น และปักกิ่งเพิ่มปีละ 2-3 ร้าน แม้ปัจจุบันร้านค้าในจีนจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่มองในภาพรวมอนาคตมากกว่า

ส่วนตลาดอินเดียยังมีกำลังซื้อต่อเนื่อง โดยจำนวนคู่ค้ายังคงเท่าเดิม แต่บริษัทจะเน้นเพิ่ม line สินค้า โดยบริษัทจะนำแบรนด์ พรีม่า โกลด์ ขยายตลาดมากขึ้น จากเดิมที่จะมีเพียงสินค้าแบรนด์ พรีมา อาร์ท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้อีก 50% หลังพบว่าลูกค้าในอินเดียมีการตอบรับที่ค่อนข้างดี

นอกจากนี้ บริษัทยังได้หันไปเปิดตลาดใหม่ในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทได้มีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเปิดโรงงานผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว และเห็นว่าตลาดอินโดนีเซียน่าจะสามารถทำการค้าปลีกได้ แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายของอินโดนีเซียที่ห้ามต่างชาติดำเนินธุรกิจค้าปลีก แต่จำกัดเฉพาะคนอินโดนีเซีย ดังนั้น บริษัทจึงดำเนินการผ่านพันธมิตรท้องถิ่นในนาม แพรนด้า มาร์เก็ตติ้ง อินโดนีเซีย ในลักษณะการให้กู้ วงเงิน 50 ล้านบาท เพื่อขายปลีกเครื่องประดับภายใต้แบรนด์"จูเลีย"

และหวังว่าในปี 58 เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ข้อกฎหมายการลงทุนจะเปิดกว้างขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสแปลงหนี้สินดังกล่าวให้เป็นทุนที่จะเข้าถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว

"ตลาดอินโดฯค่อนข้างดี แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เราเข้าไปลงทุนโดยตรงไม่ได้ จึงดำเนินการในลักษณะการให้กู้ก่อน และในปี 58 คาดว่าน่าจะชัดเจน บริษัทก็จะเข้าแปลงเงินกู้เป็นทุน เข้าถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน สัดส่วน 50%" นายดุษิต กล่าว

สำหรับตลาดยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 35% ของรายได้รวมยังอยู่ระดับที่น่าพอใจ โดยตลาดเยอรมันและฝรั่งเศสยังทำรายได้ที่ดี และไม่ได้ชะลอตัวลง แม้เศรษฐกิจยุโรปกำลังมีปัญหา ส่วนตลาดอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 30% พบว่ายอดขายฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเริ่มมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง หลังจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐเริ่มกลับมาทำให้ตลาดกลับมาดีขึ้น การออกสินค้าคอลเล็คชั่นใหม่ๆ มีการตอบรับที่ดี

นายดุษิต ยังให้ความเห็นถึงการคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลกว่า น่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวมมากกว่า ซึ่งจะทำให้มีวัตถุดิบเข้ามามากขึ้นและผู้ผลิตมีสินค้าให้เลือกหลากหลายขึ้น แต่มองว่าไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนลดลงมากนัก เนื่องจากอัญมณี เช่น พลอย เป็นต้นทุนการผลิตเพียง 10% ของต้นทุนรวม

"รัฐส่งเสริมเรื่องนี้ก็ทำให้ชัดเจนขึ้น น่าจะเป็นผลดีในแง่มีวัตถุดิบเข้ามามากขึ้น ซึ่งเดิมพลอย มีการนำเข้ามาแบบทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ตอนนี้ก็อาจทำให้ถูกกฎหมายมากขึ้น แต่ในเชิงของราคาหรือต้นทุนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม"นายดุษิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ