(เพิ่มเติม) SITHAI เพิ่มเป้ารายได้ปีนี้เป็น 8พันลบ.ก่อนพุ่ง 9พันลบ.ปี 56/ขยายการผลิตตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 3, 2012 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์(SITHAI) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯประมาณการรายได้รวมที่ 8,000 ล้านบาท สูงกว่าเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 7,800 ล้านบาท เป็นผลจากดีมานด์ความต้องใช้ในกลุ่มภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหาร และเครื่องดื่ม(Food & Beverage Packaging) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

“ในปีนี้ยอดขายของบริษัทฯสูงกว่าที่คาดการไว้ระดับ 8,000 ล้านบาท จากเป้าเดิม 7,800 ล้านบาท เนื่องจากดีมานด์ความต้องการใช้ในกลุ่มภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทฯสามารถทำรายได้ไปแล้วกว่า 4,094 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น"นายสนั่น กล่าว

สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้น บริษัทฯจะมุ่งขยายตลาดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในเวียดนาม และกลุ่ม AEC พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นสินค้าเพื่อรองรับธุรกิจ logistic อาทิ ลัง และพาเลทพลาสติก รวมถึงการเพิ่มสายการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่โรงงานโคราชเพิ่มเติม เพื่อขยายตลาดในภาคอีสาน, ลาว และกัมพูชา

“การพิจารณารับคำสั่งซื้อสินค้านั้น บริษัทฯจะคำนึงถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่เหมาะสมต่อบริษัทฯอย่างสูงสุด ขณะ เดียวกันบริษัทฯมีแผนที่จะลดการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการบริหารต้นทุนของบริษัท"นายสนั่น กล่าว

ส่วนธุรกิจเมลามีนนั้น บริษัทฯเพิ่มยอดการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งปีนี้คาดว่ายอดขายจะเพิ่มจากปีก่อน 7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% โดยมีแผนการเพิ่มโรงงานผลิตอีกหนึ่งแห่งในเวียดนาม ขณะที่ธุรกิจซื้อมาขายไป ภายใต้แบรนด์ S Natur บริษัทฯได้มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ผ่านสาขา 16 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการขยายตลาดไปยังเมียนมาร์ , ลาว และกัมพูชา และมีแผนการเปิดอีก 1 สาขาภายในปี 56

“บริษัทฯมีแผนขยายการลงทุน โดยตั้งแต่ปี 55 บริษัทฯ ตั้งเป้าการลงทุนไว้ 900 ล้านบาท ขณะที่รายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และในปี 56 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ระดับ 9,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยลงทุนในเครื่องจักรและแม่พิมพ์เป็นหลัก"นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 56 บริษัทฯ จะก่อตั้งครบ 50 ปี ซึ่งจะทำการ re-branding และมีแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ของปี 56-58 จะมุ่งเน้นในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับการลงทุนในอนาคต บริษัทฯ มีแผนจะขยายฐานการผลิตโดยสร้างโรงงานในอินเดีย อินโดนีเซียและเมียนมาร์

นายสนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 55 คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) อยุ่ที่ 21% และปี 56 อยู่ระดับสูงกว่า 21% และมีโอกาสทำได้ถึง 23% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดของตลาดในอนาคต โดยวางกลยุทธในการลดการใช้แรงงาน นำสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงมากใช้ เพื่อทำให้มาร์จิ้นสูงขึ้น

"ในปีนี้รายได้มีโอกาสมากกว่า 8 พันล้านบาท และปีหน้าทะลุ 9 พันล้านบาทได้ โดยปีนี้ในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มียอดขายและกำไรสูงสุดกว่า 3 ไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตจากการมีเครื่องจักรใหม่เข้ามาใช้ และจะทำให้การจ่ายปันผลปีนี้น่าจะสูงกว่าปีก่อนที่จ่ายปันผล 30 สตางค์/หุ้น"นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมพิจารณาแผนการลงทุนและงบลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า(ปี 56-60) โดยจะมีข้อสรุปในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งแผนการลงทุนปีหน้าใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เพื่อซื้อเครื่องจักรและแม่พิมพ์ ยังไม่รวมงบสร้างโรงงานในอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งการขยายการลงทุนดังกล่าวบริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่อาจใช้เป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ขณะที่มีนโยบายรักษาอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่เกิน 2 เท่า จากช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.18 เท่า

สำหรับปี 56 บริษัทมีแผนจะร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในกรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย จากปัจจุบันมีโรงงานที่สุราบายาอยู่แล้ว โดยโรงงานแห่งใหม่จะผลิตแพลตฟอร์ม กล่องพาเลท ส่วนโรงงานในเวียดนามจะมีการเพิ่มทุนเพื่อขยายการผลิตเมลามีนอีก 40% เป็นการทำสัญญาเช่าโรงงานเก่าที่เลิกกิจการไปแล้ว ซึ่งจะทำให้การยอดขายเมลามีนเพิ่มจาก 60 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท จะทำให้ยอดขายในเวียดนามเติบโตเป็น 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนตั้งโรงงานในประเทศอินเดีย โดยอยู่ระหว่างรอขั้นตอนเกี่ยวกับระบบภาษี

อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 56 บริษัทจะเลิกการผลิตขิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรและมีอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ต่ำ

บริษัทยังมีแผนซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการ(M&A)เพื่อขยายธุรกิจในช่วงหลังจากปี 58 โดยขณะนี้มีผู้เสนอตัวมาให้บริษัทพิจารณาซื้อหรือควบรวมกิจการหลายแห่งทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และ ฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สูง แต่บริษัทไม่ได้เร่งรีบ โดยขอให้มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก่อน เพื่อรอดูกฎหมายการควบรวมกิจการสามารถทำได้เร็วแค่ไหน รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์

"หลังปี 58 การวางแผนทำ M&A น่าจะเกิดขึ้น...ยุโปรมีลูกค้าที่เป็นเอเย่นต์เรามีการเสนอขายกิจการ แต่เรามีกำลังคนไม่พอ ดังนั้นดีลตอนนี้คงไม่ซื้อกิจการในยุโปร แต่จะให้เขาเป็นผู้หาลูกค้าให้ โดยไม่มีการเก็บสต็อค เราขายผ่านเอเย่นต์ส่งสินค้าให้ลูกค้าโดยตรง" นายสนั่น กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ