NNCL มีลุ้นปี 55 กำไรพุ่งเกินเป้า มองหาที่ผุดนิคมฯใหม่ทั้งฝั่งตอ.-ตต.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 2, 2012 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวนคร (NNCL) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/55 ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากไตรมาส 2/55 ที่มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาท โดยทั้งปีคาดว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีโอกาสทำได้ดีกว่าปี 53 ที่มีกำไรสุทธิ 179 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินชดเชยประกันน้ำท่วมเพิ่มเติมที่จะบันทึกเป็นรายได้ในช่วงไตรมาส 4/55 ราว 50 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ได้รับมาแล้ว 100 ล้านบาท

ในแง่ของยอดขายที่ดินพบว่ามีลูกค้าให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าเดิมที่ต้องการขยายการลงทุน และลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะหลังผ่านพ้นช่วงฤดูฝฝนที่ไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้า และหลังจากที่บริษัทได้โรดโชว์ในต่างประเทศ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาเจรจากับบริษัทแล้วถึง 150 ราย คิดเป็นยอดซื้อที่ดินรายละ 10 ไร่

"ตอนนี้มีลูกค้าเข้ามาดูเรื่อยๆ ทั้งลูกค้าเดิมที่กำลังเร่งสร้างโรงงานใหม่ขยายกำลังผลิต และลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น ที่เริ่มเข้ามาดูพื้นที่แล้ว 150 ราย ซึ่งส่วนนี้ได้อย่างน้อย 3-4 รายก็พอใจแล้ว"นายนิพิฐ กล่าว

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมที่ จ.นครราชสีมาในเฟส 3 ขนาดเนื้อ 2,000 ไร่ มีลูกค้าจองจนเหลือเพียง 500 ไร่ จากที่เฟส 1-2 มีเนื้อกว่า 1,300-1,400 ไร่ ลูกค้าจองซื้อเต็มก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ 1-2 แห่งฝั่งตะวันออกเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งมีโรงงานทั้ง จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีระบบโลจิสติกไว้พร้อม ส่วนอีกแห่งมองว่าฝั่งตะวันตก ที่ จ.ราชบุรี หรือ จ.กาญจนบุรี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือทวายในอนาคต โดยนิคมฯแต่ละแห่ง จะมีขนาดประมาณ 1,500-2,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแม้จะมีลูกค้าทั้งรายเก่าและใหม่ให้ความสนใจซื้อที่ดินในขณะนี้ แต่พบว่ามีหลายรายได้เลื่อนการเซ็นสัญญาออกไป ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ทั้งปัญหายุโรปและสหรัฐซึ่งส่งผลต่อออเดอร์ต่างๆ เห็นได้จากลูกค้าญี่ปุ่นในนิคมฯ จ.ปทุมธานี ที่จองซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ ได้เลื่อนการเซ็นสัญญาออกเป็นปี 56 ซึ่งเป็นผลจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น รวมทั้งความล่าช้าของการออกใบอนุญาตการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งผลทำให้ลูกค้ามีการเลื่อนเซ็นสัญญาซื้อที่ดินกับบริษัทอย่างน้อยแล้ว 3 ราย

สำหรับวงเงินชดเชยประกันน้ำท่วม ขณะนี้มีบริษัทประกันหลายแห่งทยอยจ่ายเงินชดเชยมาบ้างแล้ว โดยวงเงินประกันความเสียหายจากทรัพย์สิน มีวงเงินที่ 200 ล้านบาท แต่วงเงินชดเชยความเสียหายจากการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ 50 ล้านบาท บริษัทประกันยังยื้อไม่ยอมจ่าย โดยจะขอจ่ายในวงเงินต่ำ บริษัทจึงอาจจำเป็นต้องมีการฟ้องร้อง เพราะถือว่าเป็นความเสียหายทางธุรกิจและมีข้อมูลยืนยันถึงที่มีที่ไปของรายได้

นายนิพิฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บรรยากาศการลงทุนในไทยอยู่ในระดับดีมาก แต่ที่น่ากังวลคือปัญหาเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อความต้องการในตลาดโลก และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะพบว่าขณะนี้มีลูกค้าได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศบ้างแล้วจากปัญหาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ