(เพิ่มเติม) รมว.คมนาคมจี้ AOT หารายได้จากธุรกิจไม่ใช่การบินเพิ่ม-บริหารเชิงคุณภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 21, 2012 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ"ยุทธศาสตร์ทางอากาศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2" ว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเตรียมพัฒนาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 62,503 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี รวมเป็น 60 ล้านคน คาดว่าอีกไม่กี่ปีก็เต็มขีดความสมารถ อย่างไรก็ดี ไม่ต้องการให้ AOT เน้นเรื่องจำนวนแต่ให้เน้นคุณภาพการให้บริการ
"ผมไม่ได้ให้เน้นเรื่อง 60 ล้านคน แต่ 60 ล้านคน happy ไหม ผู้โดยสารมีความสุขที่เขามาใช้ที่ของเรา"รมว.คมนาคม กล่าว

นอกจากนี้ ต้องการให้ AOT หันมาสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน(non-aero) โดยปัจจุบัน AOT มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน 61% ส่วน non-aero 39% เพราะรายได้จากธุรกิจการบินเติบโตได้อยู่แล้วตามการเติบโตของนักท่องเที่ยว และหากมีการปรับขึ้นราคาจะกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย ขณะที่รายได้จาก non-aero มาจากฝีมือการบริหารและเป็นรายได้ที่ผู้โดยสารเต็มใจจ่าย ฉะนั้น ก็ให้ AOT ตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้ส่วนนี้ในอนาคตและจะมีรูปแบบอย่างไร

ขณะที่การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 กำลังดำเนินอยู่ แต่ควรวางแผนสำหรับโครงการในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งจะต้องมีรันเวย์เส้นที่ 4 โดยเฉพาะพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากเสียงว่าจะต้องดำเนินการกันพื้นที่ก่อนหรือทำความเข้าใจกับประชาชนที่จะมาปลูกบ้านในบริเวณใกล้เคียงเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านคัดค้าน เรื่องเหล่านี้ AOT ก็ควรพิจารณาไว้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 จะมีการสร้างรันเวย์หรือทางวิ่งอากาศยานเส้นที่ 3 โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 59 สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี

ขณะที่ความต้องการเดินทางและการท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็ว AOT จึงมีแผนพัฒนาโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 รวมรันเวย์ที่ 4 ที่จะรองรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคน/ปี เป็น 75 ล้านคน/ปี กำหนดแล้วเสร็จในปี 61 และขยายระยะที่ 4 เพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 90 ล้านคน/ปี โดยแล้วเสร็จในปี 75 เพื่อให้ไทยคงเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทย

ด้านนายสมชัย สวัสดีผล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การออกแบบสร้างท่าอาศยานสุวรรณภูมิล่าช้าตั้งแต่ระยะแรกแล้วนาน 5 ปี ทำให้ต้องแก้ไขการออกแบบให้ขยายการรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี จากเดิม 30 ล้านคน/ปี และระยะที่ 2รัฐบาลก็ยังไม่มีการลงทุนต่อเนื่องทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่สามารถหลีกเลี่ยงความแออัดได้ แต่ก็ผ่อนคลายระยะหนึ่งเมื่อรัฐบาลจะเปิดใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพที่รองรับผู้โดยสารได้ 18.5 ล้านคน และขยายการรองรับได้เป็น 27.5ล้านคน/ปีในระยะต่อไปจนถึง 36.6 ล้านคน/ปี ในเฟส 3

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 AOT จะเร่งจัดประกวดราคาพื่อหาผู้รับเหมาในเร็วๆนี้นอกจากนี้เห็นด้วยที่จะนำระบบสารสนเทศหรือไอทีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการท่าอากาศยาน

สำหรับพื้นที่คาร์โก้รองรับสินค้าได้ 1.7 แสนตันต่อปี แต่ปัจจุบันใช้เพียง 1.3 แสนตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งตนเองขอรับข้อเสนอขอนายโกวิทไว้พิจารณาเรื่องเงื่อนไขสัญญาว่าต้องแก้ไขได้หรือไม่ และต่อไปทอท.จะขยายพื้นที่ฟรีโซนให้มากขึ้น ปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น และ จะนำเทคโนลยีมาเพิ่มโดยยึดหลักในการพิจารณาค่าบริการอย่างเป็นธรรมด้วย

นายโกวิท ธัญญรัตตกุล นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างและขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในส่วนของคลังสินค้า (คาร์โก้) ผู้ประอบการยังต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตฟรีโซนเหลือผู้ประกอบการเพียง 30% และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงคมนาคมตนเชื่อว่าได้มีการปรับปรุงระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศไทยจำนวนมาก ขณะที่กรมสรรพากรยังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่เขตฟรีโซน ซึ่งในต่างประเทศไม่ทำกันแล้ว

“กลยุทธ์ที่รมว.คมนาคมให้สอบถามผู้ประอบการว่า พอใจกับการให้บริการและค่าบริการสมน้ำสมเนื้อหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทอท.ต้องนำไปคิด เนื่องจากปัจจุบันการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศขาออก ใช้เวลา ถึง 1 ชม.ครึ่ง ขณะที่สินค้าขาเข้าใช้เวลานานถึง 2 ชม.ครึ่ง ดังนั้น ทอท.ควรปรับลดเวลาขนส่งให้น้อยลงอย่างต่อเนื่องเพื่อเซฟเวลาการทำงานของผ็ประอบการขนส่งสินค้า" นายโกวิท กล่าว

นอกจากนี้ การดำเนินการในพื้นที่เขตฟรีโซน ซึ่งดำเนินการได้ยากมากนั้น หากแก้ขาสัญญาเดิมที่ทำไม่ได้ ทอท.ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพการจัดการบริหารพื้นที่ฟรีโซนรายที่ 3 มาทำเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง ขณะนี้หากเปรียบเทียบการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ พบว่า สุวรรณภูมิอยู่ในอันดับที่ 29 ทั้งๆ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ มีเส้นทางเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายกว่าสิงคโปร์ แต่เมื่อเปรียบเทียบอันดับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ไทยแพ้สิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ