ทริสเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้TUF เป็น AA- จาก A+แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 8, 2013 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เป็นระดับ “AA-" จากเดิมที่ระดับ “A+" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" การปรับเพิ่มอันดับเครดิตครั้งนี้เนื่องจากบริษัทมีสถานะการเงินที่ดีขึ้นและประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับ MW Brands Holdings Group (MWB) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องครบวงจรในยุโรป

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนการมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงธรรมชาติที่ผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ตลอดจนความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบข้อบังคับทางภาษีและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกด้วย

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยฐานตลาดส่งออกที่กระจายตัวและสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยให้บริษัทมีกระแสรายได้ที่มีเสถียรภาพ ในขณะที่ตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับจะช่วยดำรงความสามารถในการทำกำไรแม้บริษัทจะเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวนก็ตาม

TUF ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในบรรดาผู้ผลิตอาหารทะเลแบบครบวงจรระดับโลก สินค้าของบริษัทครอบคลุมทั้งอาหารที่ผลิตจากปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน และปลาแซลมอน รวมทั้งอาหารสัตว์ โดยรายได้ประมาณ 50% มาจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ปัจจุบันรายได้ทั้งกลุ่มของบริษัทมาจากตลาดสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 36% จากสหภาพยุโรป 31% และจากตลาดในส่วนอื่นของโลก 34%

ในเดือนตุลาคม 2553 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ MWB ด้วยวงเงิน 680 ล้านยูโร MWB เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องแบบครบวงจรตั้งแต่การมีกองเรือจับปลาไปจนถึงโรงงานผลิต และช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดยุโรป การซื้อหุ้น MWB ทำให้บริษัทเป็นเจ้าของตราสินค้าที่มียอดจำหน่ายอันดับต้น ๆ ในยุโรป ได้แก่ Petit Navire, John West, Mareblu และ Hyacinthe Parmentier นอกเหนือจากที่ได้เป็นเจ้าของตรา “Chicken of the Sea" ซึ่งเป็นตราสินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว

การซื้อกิจการ MWB ช่วยเสริมความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณการผลิตอาหารจากปลาทูน่าประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตอาหารจากปลาทูน่าทั่วโลกที่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านตันต่อปี บริษัทมีฐานการผลิตใน 8 ประเทศซึ่งครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก โดยฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา กาน่า และซีเชลส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส และล่าสุดที่ประเทศปาปัวนิวกินีด้วย

ตลาดส่งออกของบริษัทมีการกระจายตัว และปัจจุบันยิ่งมีสมดุลมากขึ้นหลังจากการซื้อกิจการของ MWB โดยยอดขายในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 36% ในปี 2554 และปี 2555 ในขณะที่ยอดขายในสหภาพยุโรปมีสัดส่วนคิดเป็น 31% ของรายได้รวม และประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วน 9% ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลายทั้งอาหารทะเล อาหารสัตว์ และอาหารกุ้ง

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 50% ของยอดขายรวม จากกุ้งแช่แข็งและอาหารกุ้ง 22% ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 10% อาหารสัตว์เลี้ยง 7% ปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล 6% และจากปลาแซลมอน 4%

ผลการดำเนินงานในปี 2554 นั้น รายได้ของบริษัทเติบโตจากการขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยยอดขายรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 42.5% เท่ากับ 3,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งรวมยอดขายของ MWB จำนวน 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย หากไม่รวม MWB บริษัทจะมียอดขายเท่ากับ 2,517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 แม้จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งของบริษัท แต่ราคาปลาทูน่าที่เพิ่มสูงขึ้นและคำสั่งซื้อปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้บริษัทมียอดขายถึง 2,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2555 ซึ่งทำให้กำลังการผลิตกุ้งของบริษัทลดลง 10%

อัตรากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นในปี 2554 และต่อเนื่องไปจนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 แม้ว่าต้นทุนปลาทูน่าจะเพิ่มสูงขึ้นและมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย แต่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2554 ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 9.2% และตรึงอยู่ในระดับ 9.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับช่วงปี 2549-2553 ที่บริษัทมีอัตรากำไร 5.6%-7.6% ความสำเร็จในการรวมกิจการกับ MWB ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงช่วยเสริมให้อัตรากำไรโดยรวมของบริษัทดีขึ้น

นอกจากนี้ อัตรากำไรที่สูงขึ้นยังเป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทในการปรับราคาขายปลาทูน่าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยราคาปลาทูน่าเพิ่มขึ้น 37% ในปี 2554 และเพิ่มขึ้น 26% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ราคาปลาทูน่าปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกันยายน 2555 สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งนั้น การลดเวลาในการรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อให้ราคาขายสอดคล้องกับราคาต้นทุนช่วยรักษาระดับกำไรให้แก่บริษัทได้อีกทางหนึ่งแม้ต้นทุนกุ้งจะปรับตัวขึ้นก็ตาม อัตรากำไรและยอดขายที่เพิ่มขึ้นช่วยให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในปี 2554 เพิ่มขึ้น 90.5% เป็น 9,800 ล้านบาท และปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 7,771 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555

ในเดือนพฤษภาคม 2555 บริษัทได้เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างเงินทุนด้วยการเพิ่มทุนจำนวน 9,563 ล้านบาท โดยบริษัทนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ชำระหนี้ก่อนกำหนด ส่งผลให้โครงสร้างหนี้ของบริษัทลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 อยู่ที่ระดับ 44.8% ปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงสุดที่ 61.7% ณ สิ้นปี 2553 บริษัทมีแผนลงทุนจำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเพื่อขยายกำลังการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยบริษัทมีนโยบายการเงินที่ระมัดระวังในการรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในช่วงที่ดำเนินการขยายธุรกิจตามแผนสหภาพยุโรปได้ออกประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ในการให้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้ง ซึ่งมีผลทำให้ประเทศไทยขาดคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้

ทั้งนี้ กุ้งแช่แข็งที่ส่งออกจากประเทศไทยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 12% และกุ้งแปรรูปเสียภาษีในอัตรา 20% ซึ่งอัตราภาษีใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรนี้มีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากเนื่องจากบริษัทมียอดขายกุ้งที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพียง 1.4% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ