(เพิ่มเติม) QTC เตรียมประมูลงานกว่า 4 พันลบ.,แผนจับมือ UAC-HYDRO-AGE ชัดใน 6 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 24, 2013 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานกรรมการบริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเข้าประมูลงาน โดยมีมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท และเบื้องต้นคาดว่าจะชนะงานประมูลเข้ามาไม่ต่ำกว่าปี 55 โดยปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) กว่า 220 ล้านบาทและคาดว่าจะได้รับงานใหม่เข้ามาเพิ่มทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 10% ของมูลค่างานที่เข้าประมูล

อีกทั้งบริษัทยังมีการมองหาพันธมิตรรายใหม่ในแถบประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศลาวที่บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผลได้ชัดเจนอีก 6 เดือนข้างหน้า

ส่วนแผนความคืบหน้าการร่วมลงทุนระหว่าง บมจ. ไฮโดรเท็ค (HYDRO), บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) และบมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ (UAC) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากการร่วมมือโครงการดังกล่าวเป็นรูปธรรมแล้วจะทำให้ส่งเสริมศักยภาพของบริษัทให้มีรายได้เติบโตยิ่งขึ้น

โครงการดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่า ๆ กันที่ 25% ของมูลค่าลงทุนที่ประเมินไว้เบื้องต้นที่ 1 พันล้านบาท มาจากการกู้ยืมสถาบันการเงินจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนทั้งหมด และอีกครึ่งหนึ่งมาจากเงินลงทุนของ 4 บริษัทฯ คาดว่า QTC จะใช้เงินลงทุนจากบริษัทฯราว 100 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 12-16 เดือน และมีผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการนี้มากกว่า 10% ต่อปี

นายพูนพิพัฒน์ กล่าวถึงความร่วมมือกับ บริษัท ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนผลิตและขายหม้อแปลงไฟฟ้าแบบแห้ง (Dry Type)ว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายจากความร่วมมือในครั้งนี้ และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 20% หรือไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทภายในปีนี้ จากอดีตมียอดขายเพียง 40-50 ล้านบาท

นอกจากนั้น ภายในปี 56-58 บริษัทได้วางแผนมุ่งเน้นการทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) อีกทั้งวางแผนมุ่งเน้นทำตลาดที่มีมาร์จินสูง เช่น ตลาด EPC, Oil & GASนายพูลพิพัฒน์ กล่าวว่า ปี 56 ตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 11% เนื่องจากปีนี้คาดว่าจะสามารถทำรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปีก่อน มาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าสัดส่วนการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าจะสูงกว่า 20% ของรายได้ ซึ่งมากกว่าปีก่อน แม้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

“เรามองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าส่งออกมากนัก เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบและการจำหน่ายสินค้าของเราส่งออก ราคาที่ขายจะมีการปรับเปลี่ยนตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า อย่างเช่น การนำเข้าวัตถุดิบช่วงนี้เราได้รับผลดีมาก เนื่องจากเราซื้อวัตถุดิบเป็นเงินดอลลาร์ ก็ทำให้ซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูก ส่วนการส่งออกเราก็ไม่ได้อิงเงินดอลลาร์ตลอดเวลา เช่น ในออสเตรเลียที่เราส่งออกไป เราก็ค้าขายเป็นสกุลเงินของออสเตรเลีย ทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกมากนัก"

นอกจากนี้บริษัทฯยังวางแผนในการพัฒนาศูนย์ดูแลและบริการลูกค้าให้กลายเป็นหน่วย Profit Center ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 100 ล้านบาท อีกทั้งในปีนี้บริษัทฯยังวางแผนการลดต้นทุนทุนทั้งระบบลง โดยให้พนักงานในแต่ละแผนกช่วยกันคิดและวางแผนในการลดต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างเช่นการลดจำนวนสต๊อกสินค้าตั้งเป้าปีนี้ลดเหลือ 150 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 250 ล้านบาท ก็จะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายที่ลดลง

บริษัทคาดว่าไตรมาส 1/55 จะมีรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการทยอยรับรู้รายได้จาก backlog และมีแนวโน้มยอดออเดอร์เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4/55 สามารถทำกำไรสุทธิได้มากกว่า 3 ไตรมาสของปี 55 รวมกันอยู่ที่ 28.16 ล้านบาท เนื่องจากงานที่เข้ามามากในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้บริษัทฯยังไม่สามารถส่งให้กับลูกค้าได้ทัน ไตรมาส 4/55 ก็เริ่มมีการทยอยส่งและรับรู้รายได้เข้ามามากขึ้น ทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

นายพูนพิพัฒน์ กล่าวอีว่า บริษัทฯคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 55 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.25 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 0.19 บาท/หุ้น โดยจะนำเรื่องเข้าเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 21 ก.ย.56 และจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 23 เม.ย. 56 และคาดว่าจะจ่ายปันผลได้ภายในเดือน พ.ค.56

สำหรับเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้าของบริษัทคาดว่าทำรายได้ 1,500 ล้านบาท โดยขณะนี้มีการวางแผนนำเงินไว้ใช้สำหรับซื้อเครื่องจักรขยายกำลังการผลิตราว 50 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนคาดว่าจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน เนื่องจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทฯยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่ 0.6 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ