(เพิ่มเติม) อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค คาดเข้าเทรดตลาด mai ช่วงต้นเดือนมี.ค.56

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 29, 2013 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค(EFC) คาดว่าจะนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.56 เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการ โดยบริษัทตั้งเป้าปี 56 รายได้เติบโต 20% จากปี 55 ที่คาดว่าจะปิดงบปีมีรายได้ราว 1.1 พันล้านบาท

นายอาลักษณ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 20 ล้านหุ้น ราคาที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน และซื้อเครื่องจักรเพิ่ม วงเงินราว 300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเพิ่มในเฟสแรก 70-80 ล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานได้ 40% ต่อปีเมื่อลงทุนครบทุกเฟสแล้ว

"บริษ้ทจะเริ่มโรดโชว์ให้ข้อมูลกับนักลงทุน 9 จังหวัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ราชบุรี พิษณุโลก หาดใหญ่ นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น และกทม."นายอาลักษณ์ กล่าว

บริษัทตั้งเป้าปี 56 จะมีรายได้ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 20% จากปี 55 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.1 พันล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกของปี 55 มีรายได้ 770 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 3.77% คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5-7% ในปี 56 โดยขณะนี้บริษัทมีงานในมือ(Backlog)มากกว่า 500 ล้านบาท หรือเกินกว่า 50% ของเป้าหมายรายได้ไปแล้ว เนื่องจากบริษัทเป็นที่ยอมรับในวงการเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยอดขายของบริษัทติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ

ประกอบกับ การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ ส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและเล็กที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์อาจต้องปิดตัวลงไป น่าจะทำให้คำสั่งซื้อในส่วนนั้นไหลมาที่บริษัทแทน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้ และยอดขายจากต่างประเทศ ประมาณ 60% มาจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป และตะวันออกกลาง ขณะที่การขายในประเทศอยู่ที่ 40% แต่มองว่าการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ยากต่อการควบคุม

ดังนั้น บริษัทจึงจะหันมาเจาะตลาดในประเทศ ด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายในประเทศผ่านร้านโมเดิร์นเทรด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและรองรับความต้องการได้ทั่วถึงมากขึ้น รวมทั้งเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าปรับสัดส่วนรายได้เป็น 50:50 ภายในปี 57

"ขณะนี้บริษัทได้เข้าไปหาร้านค้าปลีกในพม่าเพื่อส่งสินค้าไปวางจำหน่ายแล้ว ส่วนมาเลเซีย มีโรงงานเฟอร์นิเจอร์มากแล้ว จึงเน้นที่การขายวัตถุดิบมากกว่า ขณะที่ฟิลิปปินส์เป็นการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางไปจัดจำหน่ายเอง ทั้ง 3 ประเทศที่เจาะเข้าไปเพื่อรองรับการเปิด AEC"นายอาลักษณ์ กล่าว

สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในระดับนี้ยังส่งผลต่อบริษัทไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้แล้ว แต่หากแข็งค่าไปมากกว่านี้ อาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ