(เพิ่มเติม) TISCO ตั้งเป้าสินเชื่อช่วง 3 ปี ขยายตัวเฉลี่ย 15-20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 19, 2013 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ตั้งเป้าสินเชื่อในช่วง 3 ปี จากนี้ โตเฉลี่ยที่ 15-20% โดยในปี 56 คาดว่าจะโตได้ตามเป้า โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวแล้ว 3-4% เนื่องจากได้สินเชื่อรถคันแรกหนุน

นางอรนุช อถิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในแผนธุรกิจอีก 3 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าสินเชื่อจะมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 15-20% การขยายสินเชื่อก็ยังไปได้เริ่อยๆ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในอัตราที่รองรับการเติบโตได้สบายๆ

โดยในปีนี้ (56) ก็ยังคงเป้าสินเชื่อขยายตัว 15-20% ซึ่งถ้ารักษาระดับนี้ไว้ก็ถือว่าดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่ต้นปี 56 ราว 2 เดือน สินเชื่อขยายตัวแล้ว 3-4% เทียบจากสื้นปี 55

"ถ้าทั้งปี 15-20% ค่อนข้างมั่นใจ ซึ่งโครงการรถคันแรกมีผลดีต่อกลุ่มมาก ที่ผ่านมายังไม่หนี้เสีย ซึ่งของเราลูกค้ารถคันแรกมีคุณภาพดีมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดเงื่อนไขให้สินเชื่อยังไง เพราะทุกคนก็อยากได้ประโยชน์ภาษีคันแรกอยู่แล้ว" นางอรนุช กล่าว

นางอรนุช กล่าวว่า ผลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตในอัตราที่สูงมาก โดยตั้งแต่ปี 53 - 55 สินเชื่อมีการเติบโตอยู่ที่ 32.2% 23.6 % และปีล่าสุด 34.2%ตามลำดับ พร้อมทั้งสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า 20% เป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน

"เรายังเห็นโอกาสที่จะโตได้อีกมาก ในแผนธุรกิจอีก 3 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 15-20% ซึ่งแนวทางบริหารเงินกองทุนเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว เราสามารถเลือกจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ลดลงก็ได้ แต่เราตระหนักว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้เลือกแนวทางที่จะมอบสิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้เลือกที่จะรับเงินปันผลหรือคงเงินลงทุนไว้กับบริษัท โดยหากผู้ถือหุ้นเลือกที่จะคงเงินลงทุนไว้ ก็สามารถนำเงินปันผลที่ได้รับมาลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นยังมีโอกาสที่นำสิทธิ TSR มาขายในตลาดฯ หากไม่ต้องการเพิ่มทุน แผนการบริหารเงินทุนในครั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวในระดับที่สูง และรักษาระดับอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ในระดับสูงได้เป็นอย่างดีเช่นที่ผ่านมา" นางอรนุช กล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการออกใบแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Transferable Subscription Right : TSR) และคณะกรรมการบริษัทมีมติเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการอนุมัติการจัดสรรกำไรจากผลประกอบการเป็นเงินปันผล ในอัตรา 2.40 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 47% ของกำไรสุทธิ ตามงบการเงินรวมในปี 2555 และ อนุมัติการออกใบแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (TSR) เพื่อให้ทางเลือกแก่ผู้ถือหุ้นในการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน ในอัตรา 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 TSR ที่ราคา 24 บาท โดยบริษัทกำหนดให้ราคาใช้สิทธิเพิ่มทุน มีจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ที่ได้รับ เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ถือหุ้น

นางอรนุช กล่าวว่า ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ กลุ่มทิสโก้จะขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนถุมัติจัดสรรกำไรจากผลประกอบการเป็นเงินปันผล ในอัตรา 2.40 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 47% ของกำไรสุทธิ และอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน(TSR) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นนำเงินปันผลกลับมาลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน ในอัตรา 10 หุ้นเดิมต่อ 1 TSR ใหม่ที่ราคา 24 บาท โดยกำหนดให้ราคาใชสิทธิเพิ่มทุนมีจำนวนเท่ากับเงินปันผลที่ได้รับที่ 1,747 ล้านบาท โดยคาดว่าเม็ดเงินจะเข้ามาครบในเดือนมิ.ย.ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิครบจำนวน แต่ถ้ามีหุ้นเหลือก็ไม่เป็นห่วง เพราะมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่แจ้งมาว่าจะอันเดอร์ไรท์ส่วนที่เหลือทั้งหมดเอง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม 2 เท่า คือ จ่ายราว 50% ของกำไรสุทธิ ขณะที่อุตสาหกรรมจ่ายที่ 25-30%และถ้าคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของทิสโก้ถือว่าสูงที่ 5-7% เทียบอุตสาหกรรมที่ 2-3% ด้านเงินกองทุน Tier-1 อยู่ที่ 9.4% ในส่วนของกรุ๊ป ถ้าเป็นธนาคารอยู่ที่ใกล้ 10%

“การบริหารเงินทุนครั้งนี้จะสามารถทำให้ทิสโก้เติบโตต่อไปได้อย่างโดดเด่นอย่างที่เราได้ทำมาแล้วในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนเพิ่มทุนให้กับบริษัท คือการแสวงหากำไรต่อในอัตราที่สูงจากโอกาสในการขยายกิจการของบริษัท เนื่องจากทิสโก้ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากที่จะขยายตัวโดยยังคงรักษาอัตราผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างแน่นอน" นางอรนุชกล่าว

ทั้งนี้ ในอดีต มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มทุนด้วยวิธีเดียวกันนี้ ซึ่งพบว่า TSR เป็นเครื่องมือที่ลดความผันผวนของราคาหุ้นที่มาจากการประกาศเพิ่มทุน และลดผลกระทบด้าน Dilution Effect เป็นอย่างดี เพราะผู้ถือหุ้นเดิมหากไม่ต้องการเพิ่มทุน ก็สามารถได้รับการชดเชย Dilution จากผลตอบแทนที่จะได้รับจากการขายสิทธิ TSR ในตลาดฯ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมจากสิทธิเดิมที่มีสามารถเข้ามาลงทุนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ