ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดลบ 25.03 จุด หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 16, 2013 06:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) หลังจากที่เดินหน้าขึ้นติดต่อกัน 10 วันทำการ ซึ่งเป็นสถิติที่ปิดบวกต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2539 เนื่องจากนักลงทุนเลือกที่จะเทขายหุ้น หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่น่าผิดหวัง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 25.03 จุด หรือ 0.17% ปิดที่ 14, 514.11 จุด โดยก่อนที่จะปิดลบเมื่อวันศุกร์ ดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวกมาตลอดทั้งเดือนมี.ค. และทำสถิติสูงสุดติดต่อกัน 8 วันทำการ

ขณะที่ดัชนี S&P 500 ขยับลง 2.53 จุด หรือ 0.16% ปิดที่ 1,560.70 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 9.86 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 3,249.07 จุด

อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีหุ้นหลักทั้ง 3 ดัชนีต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยดาวโจนส์พุ่ง 0.8% S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.6% และ Nasdaq ขยับขึ้น 0.1%

สำหรับบรรยากาศการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ ดัชนีดาวโจนส์เปิดลดลง และร่วงลงเร็วขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากที่มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนมี.ค.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งปรับตัวลดลงแตะ 71.8 จากระดับ 77.6 ในเดือนก.พ. นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนธ.ค.2554

ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 78.0 และเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2554 เนื่องจากผู้บริโภคไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และมีชาวอเมริกันจำนวนน้อยกว่าเดิมที่เชื่อว่าเศรษฐกิจหรือตลาดแรงงานจะดีขึ้น

ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆที่มีการเปิดเผยในวันเดียวกันนั้นมีทั้งที่ดีและน่าผิดหวัง โดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 9.2 ซึ่งแม้ลดลงเล็กน้อยจาก 10.0 ในเดือนก.พ. แต่ตัวเลขดังกล่าวก็เป็นบวกมาติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว

ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ขยายตัว 0.7% ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินพุ่งสูง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อสูงขึ้นจนเป็นปัญหาต่อการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.2% เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ตัวเลขเงินเฟ้อที่ได้รับการเปิดเผยล่าสุดนี้ทำให้มีโอกาสที่เฟดจะคงใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ต่อไป ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังได้เปิดเผยว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงโรงงาน สาธารณูปโภค และเหมือง ขยายตัว 0.7% ในเดือนก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นแตะ 79.6% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2551

ทั้งนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวผันผวน โดยหลังจากที่ร่วงลงในการซื้อขายช่วงแรก นักลงทุนก็ได้เข้ามาช้อนซื้อหุ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วยพยุงดัชนีขึ้นจากระดับต่ำของวันได้

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฉุดหุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภคลดลง ด้านหุ้นกลุ่มการเงินเคลื่อนไหวแตกต่างกัน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เฟดได้ประกาศอนุมัติแผนการด้านทุนของสถาบันการเงิน 14 แห่ง ขณะที่อีก 2 แห่งได้รับอนุมัติแบบมีเงื่อนไข และอีก 2 บริษัทไม่ได้รับอนุมัติ

หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ทะยาน 3.96% แตะ 12.59 ดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารประกาศว่าจะซื้อหุ้นคืนสูงสุด 5 พันล้านดอลลาร์

หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส บวก 1.16% แตะ 66.14 ดอลลาร์ หลังจากบริษัทเผยว่ามีแผนที่จะเพิ่มเงินปันผลรายไตรมาส 15% และซื้อหุ้นคืนสูงสุด 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

หุ้นโกลด์แมน แซคส์ พลิกกลับมาปิดในแดนบวกได้ จากที่อ่อนตัวลงในช่วงแรก แม้เฟดขอให้วาณิชธนกิจรายนี้ยื่นแผนการด้านทุนใหม่ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการวางแผนด้านทุน

หุ้นเจพี มอร์แกน เชส ร่วง 1.98% แตะ 49.99 ดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารรายใหญ่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ถูกขอให้ยื่นแผนการด้านทุนใหม่เช่นกัน นอกจากนี้อดีตผู้บริหารของธนาคาร ไอนา ดรูว์ ได้เข้าให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการวุฒิสภาเกี่ยวกับจากกรณี London Whale ซึ่งทำให้ธนาคารขาดทุนจากการลงทุนถึง 6 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เฟดได้เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารพาณิชย์รอบที่ 2 โดยขอให้เจพี มอร์แกน เชส และโกล์แมน แซคส์ ยื่นแผนการด้านเงินทุนต่อเฟดอีกครั้งหนึ่งภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ