ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 459,482 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 25, 2013 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (18 - 22 มีนาคม 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 459,482 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 91,896 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 316,708 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 123,487 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,915 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 6.2 ปี) LB176A (อายุ 4.2 ปี) และ LB155A (อายุ 2.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 26,894 ล้านบาท 20,493 ล้านบาท และ 17,955 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13409A (อายุ 14 วัน) CB13418C (อายุ 28 วัน) และ CB13620B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 33,559 ล้านบาท 31,913 ล้านบาท และ 26,875 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,204 ล้านบาท และรุ่น TLT149A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 382 ล้านบาท ตามลำดับ และหุ้นกู้ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รุ่น CPN171A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 736 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัว ลดลงในช่วงประมาณ -1 ถึง-7 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมของบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังถือได้ว่าไม่ได้มีปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบโดยตรง แต่เป็นการได้รับผลกระทบทางอ้อมจากกรณีของวิกฤติด้านการเงินและการคลังในประเทศไซปรัส ซึ่งนักลงทุนกังวลว่าอาจทำให้ปัญหาหนี้ยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ความกังวลดังกล่าวมีผลทำให้เม็ดเงินลงทุนบางส่วนโยกกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) เช่น US Treasury แรงซื้อที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ Yield ของ US Treasury ปรับตัวลดลง และส่งผลทำให้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ทางด้านสถานการณ์ของค่าเงินบาท ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี หรืออยู่ที่ระดับ 29.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ส่งผลทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในแดนลบตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่า ธปท.อาจจะออกมาตรการบางอย่างเพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน ประกอบกับความกังวลในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 2 ล้านล้านบาทที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎต่อไป โดยนักวิเคราะห์บางกลุ่มให้ความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีความชัดเจน และอาจทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จนเกินกรอบวินัยทางการคลัง (60% ของ GDP) ความกังวลต่างๆเหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงถึง 119.16 จุด ภายใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 23,796 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 8,458 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 490 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ