LANNA คาดกำไรปี 56ต่ำกว่าปีก่อนตามมาร์จิ้นถ่านหินหด/เจรจาซื้อ 2 เหมือง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 2, 2013 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) คาดว่าในปี 56 รายได้จากธุรกิจถ่านหินจะลดลงเหลือที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท แม้ว่าบริษัทจะเพิ่มปริมาณขายเป็น 7 ล้านตัน จากปีก่อน 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่ราคาขายเฉลี่ยปีนี้ปรับตัวลดลง โดยบริษัทได้ขายล่วงหน้าไปแล้ว 40% ส่วนปริมาณการผลิตในปีนี้อยู่ที่ 6 ล้านตัน จากปีก่อนผลิตได้ 5.2 ล้านตัน

ราคาถ่านเหินในเหมือง SGP ที่มีค่าความร้อน 5,000 Kcal ขายได้ราคา 55 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำลงจากปีก่อนที่ขายได้ในราคาเฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนเหมือง LHI ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินคุณภาพต่ำกว่า ซึ่งมีค่าความร้อน 4,200 Kcal ราคาขายถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 42 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนที่มีราคาขายเฉลี่ย 50 เหรียญ/ตัน ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย.นี้บริษัทจะทบทวนแผนงานอีกครั้งหลังเห็นราคาขายต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ปัจจุบัน ราคาถ่านหินนิวคาสเซิลอยู่ที่ 92 เหรียญสหรัฐ/ตัน คาดว่าราคาถ่านหินในไตรมาส 2/56 น่าจะทรงตัว แต่ราคาถ่านหินในครึ่งปีหลังคงไม่ฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม เพราะปัญหาในยุโรปส่งผลให้ปริมาณการใช้ถ่านหินนำไปผลิตไฟฟ้าและกระบวนการผลิตในโรงงานต่างๆปรับตัวลง อีกทั้งบางส่วนยังหันไปใช้พลังงานน้ำและพลังงานลมมากขึ้นด้วย แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังราคาถ่านหินคงจะกระเตื้องขึ้นจากผลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ บริษัทพยายามประคองอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ของถ่านหินไว้ คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 5 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีที่แล้วอยู่ในช่วง 5-10 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"ราคาขายถ่านหินอ่อนตัวลงจากปีที่แล้ว แต่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้พยายามรักษา Margin และ Volume"นายสีหศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทจะได้รายได้จากธุรกิจเอทานอลเข้ามาชดเชย แต่คงไม่มากนัก จึงคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้ไม่น่าจะดีกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 915.8 ล้านบาท

นายสีหศักดิ์ คาดว่า รายได้จากธุรกิจเอทานอลในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 1.6 พันล้านบาท ปริมาณขาย 6 ล้านลิตร/เดือน ราคาขายเฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ 23-24 บาท/ลิตร จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.3 พันล้านบาท ปริมาณขาย 5.2 ล้านลิตร/เดือน ราคาขายเฉลี่ย 19.84 บาท/ลิตร โดยในไตรมาส 1/56 มีปริมาณขาย 22.50 บาท/ลิตร ไตรมาส 2/56 ขายได้ 23.50 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาโมลาสอยู่ที่ 17-18 บาท/ลิตรในช่วง 2 ไตรมาสแรก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์หลังยกเลิการขายเบนซิน 91 อีกทั้งรถใหม่ทำให้การใช้ E20 มากขึ้นด้วย ส่งผลถึงความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10%

*เตรียมซื้อ 2 เหมืองในอินโดฯ

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อเหมือง 2 แห่งในอินโดนีเซียที่เกาะกาลิมันตัน และได้ส่งทีมลงไปสำรวจแล้ว โดยเหมืองแห่งแรกเป็นเหมืองที่ผลิตมาแล้ว แต่เจ้าของไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หลังราคาถ่านหินปรับลงแรง ซึ่งคาดว่ายังมีปริมาณถ่านหินอยู่อีกมาก น่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอีกแห่งเป็นเหมืองใหม่ (green field) คาดใช้เงินลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้สองเหมืองเป็นเหมืองถ่านหินคุณภาพต่ำ ทั้งนี้มองว่าตลาดถ่านหินคุณภาพต่ำจะเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะญี่ป่น หลังจากที่ไม่มีนโยบายทำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีก

อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถเจรจาเข้าซื้อได้ทั้ง 2 เหมืองได้ภายในปีนี้ก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปซื้อเหมืองแห่งอื่นทดแทน

ส่วนความคืบหน้าการเข้าซื้อเหมืองใหม่ที่เกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิความเป็นเจ้าของระหว่างรัฐบาลกลางและรับบาลท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้เรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา คาดว่าไม่น่าเกินครึ่งปีหลังน่าจะจบหลังดำเนินการมาแล้วราว 1 ปี ทั้งนี้หากรัฐบาลกลางแพ้คดี ก็เกรงว่าการบังคับคดีอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะอาจจะมีการดึงเรื่องไปจนถึงการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า

*นำ"ไทยอะโกรฯ"ยื่นไฟลิ่งปลายปี 56

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ในปลายปี 56 บริษัทจะยื่นไฟลิ่งของ บมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) ที่ LANNA ถือหุ้น 75.75% เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และคาดว่าเข้าตลาดหุ้นในช่วงต้นปี 57 หลังจากที่บริษัทสามารถฟื้นมามีกำไรติดต่อกัน 2 ปี ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจ downstream คือ ไบโอพลาสติก ซึ่งการหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมทุนมองว่าไม่ยาก แต่หากเข้าตลาดแล้วยังดำเนินธุรกิจเอทานอลอย่างเดียวก็คงไม่น่าสนใจ

ขณะเดียวกันมีแผนจะควบรวมกิจการ (M&A) โรงงานน้ำตาล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโครงการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาจุดอ่อนของไทยอะโกร ฯ คือเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ โดยช่วงที่ผ่านมาบริษัทเผชิญความผันผวนของราคาเอทานอลและต้นทุนโมลาส ซึ่งในไตรมาส 3/56 และ 4/56 จะจัดหาโมลาสได้ยากขึ้นเพราะอยู่นอกฤดูการผลิต ทำให้ราคาโมลาสในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 4/55 ที่ผ่านมา ราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาท/ตัน และปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 4,000 บาท/ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ