ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 386,305 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 9, 2013 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (1 - 5 เมษายน 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 386,305 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 77,261 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 19% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 70% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 269,813 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 91,758 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 9,171 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 2.1 ปี) LB196A (อายุ 6.2 ปี) และ LB176A (อายุ 4.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 21,453 ล้านบาท 18,567 ล้านบาท และ 17,942 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13423A (อายุ 14วัน) CB13704A (อายุ 91 วัน) และ CB13502D (อายุ 28 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 37,798 ล้านบาท 23,353 ล้านบาท และ 23,254 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY142B (AA- (tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,502 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รุ่น CPN163A มูลค่าการซื้อขาย 707 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 778 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัว เพิ่มขึ้น / ลดลงในช่วงประมาณ -3 ถึง+3 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามามีผลต่อตลาด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Yield Curve) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม (2.75%) ต่อไป เนื่องจากยังเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่นักลงทุนในตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมที่จะดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทางด้านปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารของประเทศไซปรัสเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ไซปรัสบรรลุข้อตกลงในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ในวงเงิน 10,000 ล้านยูโร ขณะที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ต่างก็มีมติให้คงนโยบายการเงินรวมถึงคงอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศไว้ที่ระดับต่ำต่อไป ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้ประกาศเพิ่มวงเงินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 7 ล้านล้านเยนต่อเดือน เพื่อให้เงินเฟ้อภายในประเทศสามารถขยายตัวได้จนอยู่ที่ระดับ 2.0% ภายในระยะเวลา 2 ปี พร้อมกันนี้ BoJ จะพยายามกดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 8,503 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิถึง 8,392 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ