ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 477,717 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 12, 2013 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (9 - 12 เมษายน 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 477,717 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 119,429 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 55% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 68% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 322,900 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 139,580 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 7,316 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 8.7 ปี) LB196A (อายุ 6.2 ปี) และ LB176A (อายุ 4.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 29,075 ล้านบาท 20,390 ล้านบาท และ 18,894 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13430A (อายุ 14วัน) CB13509C (อายุ 28 วัน) และ CB13711B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 41,876 ล้านบาท 32,178 ล้านบาท และ 26,739 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,311 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รุ่น CPN171A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 533 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) รุ่น IVL174B (A+) มูลค่าการซื้อขาย 453 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -1 ถึง -15 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังค่อนข้างนิ่ง หลังจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามามีผลกระทบต่อตลาด อัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงตามผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ตามแรงซื้อที่เข้าสู่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven) หลังจากบรรยากาศในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทไปอยู่ที่ระดับ 28.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และถือเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้มีการลอยตัวค่าเงินบาทในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลของแข็งค่าอย่างรวดเร็วว่ามีสาเหตุมาจาก 1) มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่อัดฉีดเงินเข้าระบบ 7 ล้านล้านเยนต่อเดือน ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก และ 2) เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (BTSGIF) ซึ่ง ธปท. ได้ทำการติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงชองค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 33,126 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิถึง 25,270 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 829 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ