(เพิ่มเติม) RATCH เจรจาซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่งพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมในออสเตรเลีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 16, 2013 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี(RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่งในออสเตรเลีย ขนาดกำลังผลิตรวม 4 พันเมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้ ส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่งในออสเตรเลีย ขนาดกำลังการผลิต 430 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 2/56

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหงสาในลาวก็จะเริ่มจ่ายไฟได้ในเดือนมิ.ย.58 ในโรงแรก และจะเดินเครื่องครบ 3 โรงรวม 1,876 เมกะวัตต์ในเดือนเม.ย. 59 จะทำให้กำไรสุทธิของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายเกรียงฤทธิ์ เจียจันทร์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลบริษัทในเครือ RATCH กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่รัฐนิวเซาท์เวลล์ในออสเตรเลีย กำลังการผลิตติดตั้งรวม 4,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนในปลายปีนี้ และบริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวทันที หากประสบความสำเร็จ อีกทั้งจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำในออสเตรเลียด้วย

"ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดสถานะของกิจการไฟฟ้าที่เขาเอามา privatize เราจะหาพาร์ทเนอร์เข้ามามากกว่า 1 ราย ก็น่าจะสรุปได้ปลายปีนี้ แต่เราอาจไม่ซื้อหมดทุกโรงทั้ง 4,000 เมกะวัตต์ ยกเว้นเราฟอร์มทีมได้ใหญ่ กว่าจะรู้ผลประมูลก็เป็นปีหน้า"นายเกรียงฤทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทกำลังเตรียมลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่งในออสเตรเลีย กำลังผลิตรวม 430 เมกะวัตต์ ที่รัฐนิวเซาท์เวลล์ และ รัฐควีนแลนด์ ซึ่งโครงการแรกกำลังผลิตติดตั้ง 250 เมกะวัตต์ คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ และโครงการที่สอง กำลังผลิตติดตั้ง 250 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 57

นายวุฒิชัย ตันกุรานันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน RATCH กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่ต้องเสียค่าที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินจะร่วมโครงการด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจาสัดส่วนถือหุ้นกันอยู่ โดยต้นทุนเสากังหันโครงการนี้ต้นละประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายเกรียงฤทธิ์ กล่าวว่า เหตุที่บริษัทไม่เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ๋(IPP) ในประเทศไทย เพระเห็นว่าเป็นโครงการมีความเสี่ยงในการลงทุน เพราะที่ดินซึ่งบริษัทมีอยู่ในภาคตะวันออกอยู่ในเขตสีเขียว อาจจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ จึงตัดสินใจว่าจะไม่ให้ผู้ถือหุ้นเสี่ยงด้วย และโครงการนี้กว่าจะรับรู้รายได้ใช้เวลา 8 ปี หรือในปี 64 ขณะที่บริษัทมีแผนลงทุนกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะในออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้เข้าร่วมประมูล IPP แต่บริษัทยังมั่นใจในการเติบโต

ส่วนในฟิลิปินส์ บริษัทก็ยังเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอยู่หลายแห่ง โดยยังต่อรองราคากันอยู่ คาดว่าคงยังไม่ได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เพราะเจ้าของโรงไฟฟ้าเองก็ยังไม่ข้อชัดเจน

ปัจจุบัน บริษัทอยุ่ระหว่างการพัฒนาโครงการสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสาในสปป.ลาว มี 3 โรง มีกำลังติดตั้งรวม 1,876 เมกะวัตต์ ซึ่ง RATCH ถือหุ้น 40% โดยงานก่อสร้างก้าวหน้า 51% แล้ว คาดจะเริ่มทดลองเดินเครื่องในกลางปี 57 มีแผนเริ่มจ่ายไฟสำหรับโรงแรกได้ในเดือน มิ.ย.58 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 58 ส่วนอีก 2 โรงจะเดินเครื่องและจ่ายไฟครบในเดือน เม.ย. 59

นอกจากนี้ โครงการเซเปียนเซน้ำน้อยในสปป.ลาว กำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ซึ่ง RATCH ถือ 25% คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 61 โดยจัดหาเงินกู้แล้วเสร็จในไตรมาส 2/56 จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐครึ่งหนึ่งและเงินบาทอีกครึ่งหนึ่ง

และมีโครงการราชบุรีเวิลด์โคเจนเนอเรชั่น ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี RATCH ถือหุ้น 40% มี 2 โรง กำลังติดตั้งรวม 210 เมกะวัตต์ และไอน้ำกว่า 20 ตัน โดยจัดหาเงินกู้ 8 พันล้านบาทและได้เบิกเงินกู้งวดแรกเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่นมา โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 57

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งงบลงทุนปี 56 จำนวน 10,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการที่ลงทุนให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และ เตรียมในการลงทุนใหม่

สำหรับผลประกอบการ นายวุฒิชัย กล่าวว่า ในปี 56 คาดว่ากำไรสุทธิจะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และในปีนี้มีต้นทุนการเงินลดลง โดยภาระดอกเบี้ยปรับลงมาที่จำนวน 1,800-1,900 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 500-600 ล้านบาท หลังทยอยคืนเงินต้น โดยในไตรมาส 2 ตามปกติจะมีกำไรดีกว่าไตรมาส 1 เนื่องจากอากาศร้อนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

และในปี 58 จะเริ่มเห็นการเติบโตของกำไรชัดเจน หลังจากทีโครงการโรงไฟฟ้าหงสาเริ่มเดินเครื่อง และเดินครบในปี 59 จะเห็นการเติบโตของกำไรอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงการโรงไฟฟ้าหงสามีกำไรประมาณ 2.5-3.0 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี ขณะที่โครงการราชบุรีเวิลด์โคเจนเนอเรชั่น จะทำกำไรให้บริษัทประมาณ 1.5-2.0 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ