"เกียรตินาคินภัทร"จัดโครงสร้างบริหาร-รีแบรนด์-มุ่งขยายธุรกิจใหม่ เสริมศักยภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 16, 2013 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเป็นการจัดโครงสร้างในลักษณะการรวมศูนย์ เพื่อให้ใช้ศักยภาพของกลุ่ม ทั้งบุคคลากร ฐานเงินทุน และใบอนุญาตการประกอบธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในเรื่องทิศทางการดำเนินงานในภาพรวมและการจัดสรรทรัพยากรของทั้ง 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจตลาดทุน จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่จะควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการของธนาคาร แต่ในส่วนของการจัดการที่เป็นปกติธุรกิจ จะดำเนินการแยกโดยฝ่ายจัดการของทั้ง 2 ธุรกิจ

นายอภินันนท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) กล่าวว่า การร่วมกิจการระหว่างธนาคารเกียรตินาคินและบริษัททุนภัทร ที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปมาก ธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธุรกิจการเงินฯ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ เช่าซื้อ สินเชื่อธุรกิจ และธุรกิจบริหารหนี้ มีการเติบโตและมีผลงานเป็นไปตามเป้าหมาย

ในปีนี้ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของยอดสินเชื่อรวมในปีนี้อยู่ที่ 19% ลดลงจากปีก่อนที่เติบโตกว่า 30% เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้เติบโตในอัตราที่ชะลอลงหลังสิ้นสุดลงของนโยบายรถคันแรกที่เป็นตัวกระตุ้นตลาดในปีที่แล้ว โดยคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเติบโตน้อยกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 15%

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเน้นรุกสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตถึงกว่า 30% โดยในไตรมาส 1/56 สินเชื่อธุรกิจเติบโตไปแล้ว 9% สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตราว 4%

นายอภินันทน์ กล่าวว่า จากนี้ไปจะมุ่งเน้นการขยายธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบรรษัทหรือสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจซื้อขายลงทุนตราสารหนี้และอนุพันธ์ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมต่อผู้ถือหุ้น

ในขณะที่ธุรกิจตลาดทุนมีผลประกอบการที่โดดเด่นมากตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งส่งผลมาจากสภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวย ความสามารถของทีมงาน และการขยายขนาดของการลงทุนจากการสนับสนุนด้านเงินทุนของธนาคารภายหลังการควบรวม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การกระจายตัวของรายได้และกำไรของกลุ่มธุรกิจการเงินฯ มีความสมดุลมากขึ้น โดยไม่พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจนเกินไป และยังเสริมศักยภาพในการเติบโตในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/56 จะมีการรีแบรนด์ดิ้งกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งการดำเนินงานหลังจากการควบรวมกันกิจการระหว่างบล.เกียรตินาคิน และบล.ภัทร จะมีการทำงานที่แยกส่วนงานกัน โดย บล.เกียรตินาคินจะเน้นลูกค้ารายย่อย ส่วนบล.ภัทรจะเน้นกลุ่มลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

“หลังจากการรวมกิจการทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เราได้มีการปรับองค์กรเข้าด้วยกันและประสานประโยชน์เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 องค์กรมีข้อดีที่การทำหน้าที่ของแต่ละองค์กรจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันและการดำเนินธุรกิจก็แตกต่างกัน ทำให้ไม่เกิดการซ้ำซ้อนขึ้น นำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกันมาสานต่อและต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไปข้องหน้า ซึ่งเร็วๆนี้ บล.เกียรตินาคินจะเปลี่ยนชื่อเป็นบล.ภัทร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการจัดโครงสร้างทางธุรกิจที่จะให้บล.ภัทรเป็นแกนนำในธุรกิจตลาดทุน และจะใช้ฐานลูกค้าร่วมกับบล.ภัทร

"เราอยากให้มองการประสานประโยชน์ร่วมกันใน 7-8 เดือนแรกก่อน โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา บล.ภัทรมีการลงทุน 5-6 พันล้านบาท ซึ่งหลังควบรวมกิจการนั้นคาดว่าจะมีความสามารถในการขยายธุรกิจการลงทุนได้ราว 1 หมื่นล้านบาท และมีความได้เปรียบเนื่องจากมีบริษัทแม่เป็นธนาคารพาณิชย์ ส่วนแผนงานด้านตลาดเงินได้มีการเตรียมทีมครบแล้วตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยมีการซื้อขายตราสารหนี้ไปแล้วบางส่วนและตลาดอนุพันธุ์จะเริ่มซื้อขายได้ในไตรมาส 3 นี้"นายอภินันนท์ กล่าว

นายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทุนภัทร และบล.ภัทร จำกัด กล่าวว่า ด้านของตลาดทุนหลังเข้าร่วมกิจการ บริษัทสามารถครอบคลุมลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมลูกค้า 4 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีความชำนาญ กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ กลุ่ม Wealth management รวมถึง บล.เกียรตินาคิน มีสาขาราว 12 สาขา ที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทำให้บริษัทมีลูกค้าครอบคลุม และทำให้สามารถเสนอผลิคภัณฑ์ได้หลากหลายมากขึ้น

บริษัทยยังคงมุ่งเน้นไปใน 3 ธุรกิจหลัก ส่วนแรกได้แก่ การให้บริการกับลูกค้าบุคคล อาทิ บริการวางแผนการเงินที่ปรึกษาการลงทุน บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจการเงินฯ ดูแลสินทรัพย์การลงทุนของลูกค้าอยู่เกือบ 300,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดของการซื้อขายหลักทรัพย์ของกลุ่มอยู่ที่กว่า 5% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อตลาด

ส่วนที่สองคือ การบริหารจัดการการลงทุน หรือ Asset Management ที่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันผ่านมา 8 เดือน บริษัทได้รับความไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์สินที่เป็นตราสารทุนเกือบทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านบาท และผลตอบแทนของกองทุนที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก รวมถึงการที่มี บลจ.เกียรตินาคิน ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ธุรกิจด้าน Asset Management สามารถให้บริการได้ครอบคลุมและแข็งแกร่งมากขึ้น

ส่วนสุดท้ายคือธุรกิจ Investment Banking ที่ให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สถาบัน และธุรกิจวานิชธนกิจและการลงทุน ซึ่งจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับสายสินเชื่อบรรษัทของธนาคารเกียรตินาคินและสามารถใช้ประโยชน์จากฐานเงินทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการสนับสนุนของธนาคารที่เป็นบริษัทแม่

ทั้งนี้ หลังร่วมกิจการแล้ว บลจ.เกียรตินาคิน ทำให้มีช่องทางเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเชื่อว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจะเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ