กสทช.กำหนด 7 รายการกีฬาสำคัญต้องไม่จอดำ /เห็นชอบมาตรฐานคำนวณค่า IC

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 22, 2013 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยวา ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการกีฬาที่สำคัญ พ.ศ. .... ฉบับปรับปรุงแก้ไขหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยหลังจากนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว คือรายการสำคัญ 7 รายการ

ได้แก่ 1. รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2.รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นคัพ 3.รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพนัดสุดท้าย และนัดที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 4.รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 5.รายการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก 6.รายการวอลเล่ย์บอล ระดับชิงแชมป์โลก 7.รายการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ นัดที่มีตัวแทนจากชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน

ผู้ประกอบกิจการที่ได้สิทธิในการแพร่ภาพรายการ จะต้องจัดทำข้อเสนอบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถเลือกที่จะเข้าเจรจาเพื่อนำสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพของรายการดังกล่าวไปให้บริการประชาชนรับชมได้อย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (IC) โดยหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27(8) กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดอัตราค่าใช้หรือค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. ได้นำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 มาพัฒนาเป็นร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว โดยได้มีการปรับปรุงรายละเอียดทางเทคนิคให้ทันสมัย เพื่อให้รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และยังได้ปรับปรุงรายละเอียดวิธีการคำนวณตามข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถใช้ตรวจสอบอัตราตอบแทนฯ ที่ผู้รับใบอนุญาตฯ เสนอมาในข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ร่างประกาศดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้อีก เช่น ใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ ชั่วคราว เพื่อใช้กำกับดูแลในกรณีที่การคำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ ยังไม่แล้วเสร็จ หรือใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ อ้างอิงเพื่อนำไปใช้กรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างผู้รับใบอนุญาตฯ หรือใช้คำนวณอัตราค่าตอบแทนฯ กลางซึ่งเป็นอัตราเดียวกันหมดทั้งอุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ในกรณีอื่นตามที่ กสทช. เห็นสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ