"นกแอร์"ประเดิมตลาดตปท.พม่าใน H2/56 เน้นตลาดธุรกิจมากกว่าท่องเที่ยว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 10, 2013 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สายการบินนกแอร์ ก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ เปิดตัวเข้าเมืองรอง และหัวเมืองหลักของพม่าเชื่อมต่อไทย เห็นโอกาสเติบโตตามความต้องการของนักธุรกิจ ถือเป็นการวางกลยุทธ์แตกต่างจากคู่แข่งอย่างสายการบินไทยแอร์เอเชียที่เจาะตลาดท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่สายการบินนกแอร์ขอขยายตามธุรกรรมการค้า เหมือนที่ทำสำเร็จในตลาดภายในประเทศ

นายวิทัย รัตนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน บมจ.สายการบินนกแอร์ ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์" ว่าในปีนี้บริษัทวางแผนจะเปิดเส้นทางพม่าก่อน โดยใช้โมเดลธุรกิจเช่นเดียวกับในประเทศ ที่จะเริ่มใช้เครื่องบินเล็กในการให้บริการก่อน ในครี่งปีหลังนี้ จะเปิดตัวเส้นทาง แม่สอด-เมืองมะละแหม่ง ที่เป็นเมืองท่าของพม่า โดยจะใช้เวลาทำการบิน 30 นาท ขณะที่เดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้เครื่อง SABB ที่เป็นเครื่องเช่าเหมาลำ 34 ที่นั่ง นอกจากนี้ จะเปิดเส้นทาง แม่สอด-ย่างกุ้ง, เชียงใหม่ - มัณฑะเลย์ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลา 3-5 ปีที่จะเปิดโครงข่ายทำการบินในพม่าให้ครอบคลุม โดยในระยะแรกจะใช้เครื่องเช่าเหมาลำทำการบินไปก่อน

ในระหว่างนั้น สายการบินนกแอร์เตรียมเปิดเส้นทางบินในจีน และเวียดนาม เป็นลำดับถัด โดยบริษัทจะพิจารณาเปิดเส้นทางบินไปทีละประเทศ

นายวิทัย มองว่า หัวเมืองหลักและเมืองรองในพม่าจะมีโอกาสเติบโตอย่างมากดังเช่นซึ่งมีความต้องการซ้ำที่เกิดจาการกิจกรรมทางธุรกิจ ดังเช่นที่นกแอร์เคยประสบความสำเร็จในเส้นทางแม่สอด, น่าน ที่มีการเติบโตอย่างมาก จาการขยายตัวอย่างรวดเร็วของหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบายและถูก ทำให้บริษัทมั่นใจว่าได้เดินทางถูกทาง

ที่สำคัญ บริษัทไม่ได้จับตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลักเหมือนสายการบินอื่น หรือสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ แต่หันไปเน้นขยายตามความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการไปทำธุรกิจ ไปติดต่อพบปะ เยี่ยมญาติ ซึ่งพฤติกรรมอย่างนี้เป็นพฤติกรรมเกิดซ้ำ ซึ่งต่างจากธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้าของนกแอร์ที่เป็นตลาดท่องเที่ยวมี 35% เท่านั้น ส่วนอีก 65% เป็นไปตามกิจกรรมของลูกค้า และเน้นความต้องการของลูกค้าในจังหวัดนั้นๆ (Local Demand)

ในปี 56 บริษัทคาดว่าจำนวนผู้โดยสารก็ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 5.6 ล้านคน จากปีก่อนที่มีจำนวน 4.5 ล้านคน และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดในประเทศในสิ้นปี 56 จะเพิ่มเป็น 24-25% จาก 22% ในสิ้นปี 55 จากเมื่อปี 53 มีส่วนแบ่งเพียง 16% ถือว่าเป็นสายการบิน Low Cost ที่มีอัตราเติบโตสูงสุด

"เราวางตัวเองเป็นพรีเมียร์ โลว์คอสท์ Product เราแตกต่างจากการบินไทย ส่วนไทยสมายล์ เขาวางตัวเป็น light Premium ซึ่งไม่ชนกับนกแอร์ เราเป็น Low cost จริงๆ Product ของ นกแอร์เข้ากับวัฒนธรรมแต่ละท้องถื่น ขณะที่ลูกค้าไทยแอร์เอเชีย เขาเน้นเจาะลูกค้าท่องเที่ยว"นายวิทัย กล่าว

ทั้งนี้ นกแอร์ มีสัดส่วนการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านเว็บไซด์ 55-60% ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาได้ตลอดเวลา และราคาผันแปรได้ตามราคาน้ำม้นที่ปรับตัวขึ้นด้วยบางส่วน

*ลงทุนเครื่องบินเล็ก 2.2 พันลบ.

นายวิทัย กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจาการระดมทุนครั้งนี้ 3,250 ล้านบาท จากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 125 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 26 บาท บริษัทจะนำไปลงทุนเครื่องบิน ATR จำนวน 4 ลำ ที่มี 66 ที่นั่ง จำนวนรวม 2.2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1 พันล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

โดยการเพิ่มจำนวนเครื่องบินใหม่จะทำให้อายุฝูงบินลดลงได้เป็นประมาณ 5 ปี ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จาก 7-8 ปี ในปีนี้ โดยได้สั่งซื้อ ATR 4 ลำ ราคาลำละประมาณ 550 ล้านบาท รับมอบในปี 57-58 และจะเช่าเครื่อง ATR 2 ลำ จะทำให้เครื่องบิน ATR เพิ่มเป็น 5 ลำ และ 8 ลำ ในปี 57 และปี 58 ตามลำดับ จากปีนี้ที่มี 2 ลำ ทั้งนี้ จะใช้บินเส้นทางเมืองรอง ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เมืองเล็ก ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ เครื่อง SABB ขนาด 34 ที่นั่ง ที่เช่ามาเป็นเที่ยว โดยบินได้ดีในเมืองย่อย ได้แก่ น่าน แม่สอด ชุมพร

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI)หลังขายหุ้น IPO จะลดเหลือ 39% จาก 49% Aviation Investment International เหลือถือ 10% จากเดิม 25% นายพาที สารสิน เหลือ 4% จากเดิม 5% ทุนลดาวัลย์ เหลือ 4.8% จาก เดิม 6% ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เหลือ 4% จากเดิม 5% บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เหลือ 4% จาก 5% และ นายศุภพงษ์ อัศวินวิจิตรเหลือ 4% จาก 5% และรายย่อยถือ 30%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ