การเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยเล็งเห็นว่าในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีดังกล่าวจะก่อให้เกิดธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนในระดับที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก โดยธุรกิจจะขยายวงกว้างออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน บล.เออีซี จึงเตรียมความพร้อมเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ และเมื่อเวลานั้นมาถึงก็จะทำให้ บล.เออีซี เป็นบริษัทฯที่มีศักยภาพอย่างเต็มที่ สามารถที่จะเข้าสู่ระบบและแข่งขันบนเวทีโลกได้ ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ประกอบด้วย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท และนายกุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา และนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท
"กรรมการทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีศักยภาพ มีความรู้และความสามารถหลากหลาย และด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงาน ดังนั้นจึงมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะช่วยผลักดันให้ บล.เออีซี ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการรุกขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ"นายกอบเกียรติ กล่าว
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้รับการยืนยันจากกลุ่มยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU : Memorandum of Understanding) ในเร็วๆ นี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บริษัทฯได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU : Memorandum of Understanding) กับ Guangxi State Farms Agricultural Reclamation E-Commerce Co.,Ltd ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ารายใหญ่ของประเทศจีน เพื่อแต่งตั้งให้ บล.เออีซี เป็นที่ปรึกษาด้านการระดมทุน เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสและการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต โดยความร่วมมือในครั้งนี้บริษัทฯ จะทำหน้าที่ในการมองหาช่องทางแหล่งเงินทุนจากไทยสู่จีน และจีนสู่ไทย ซึ่ง AECS จะเป็นตัวกลางติดต่อนักลงทุนหรือบุคคลที่สนใจลงทุนธุรกิจที่ประเทศไทยและประเทศจีน