ตลท.หนุนบจ.ระดมทุนผ่าน IPO ขยายลงทุนในพม่าหลังปรับปรุงกม.-ระบบบัญชี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 12, 2013 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวในการสัมมนา"ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายและระบบบัญชีของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์"ว่า การปรับปรุงระบบกฏหมายและบัญชีของพม่าสร้างความมั่นใจให้บริษัทจดทะเบียนไทยที่จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่จะดึงความสนใจของผู้ลงทุนไปขยายกิจการที่พม่าในรูปแบบของการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ซึ่งทาง ตลท.ก็มีแผนผลักดันและสนับสนุนการขยายกิจการของบริษัทไทยในภูมิภาค ด้วยการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2013 ในเดือนสิงหาคม เพื่อเน้นย้ำบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งด้านการผลิตและภาคการเงิน

นายยาซูฮิเดะ ฟูจิอิ กรรมการผู้จัดการ เคพีเอ็มจี เมียนมาร์ กล่าวว่า ระบบกฎหมายและระบบบัญชีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่มีการแก้ไขใหม่นั้น มองว่าจะเป็นการเอื้อให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งในกฎหมายได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 80% และนักลงทุนในประเทศ 20% ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในประเทศพม่าได้

อีกทั้งจะมีการเอื้อประโยชน์ในเรื่องยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และสิทธิในการเช่าที่ดินในการประกอบธุรกิจที่สามารถยื่นระยะเวลาออกไปได้ โดยเป็นระยะเวลา 50+10+10 ปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน

ส่วนอุตสาหกรรมที่ประเทศพม่าให้การสนับสนุนการเข้าไปลงทุน ก็จะมีอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก และอุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันประเทศพม่ามีการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และธุรกิจภาคบริการ ภาคการเงิน

นายวิรัตน์ ศิริขจรกิจ กรรมการบริหาร บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจที่สามารถเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายใหม่นั้น มองว่าเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจผลิตสินค้า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ได้เอื้อสิทธิประโยชน์กับนักลงทุนต่างชาติ โดยก็สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)บางประการ เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปี และการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบในพม่า

ทั้งนี้ในกฎหมายก็จะมีการกำหนดสัดส่วนแรงงาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการบังคับใช้ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แรงงานที่มีฝีมือเข้ามาพัฒนาให้แรงงานในประเทศพม่ามีศักยภาพมากขึ้น

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้มีการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและพม่าจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่จะเข้าไปลงทุนในการโครงต่างๆในพม่า เช่น โครงการทวาย ซึ่งไทยยังติดปัญหาเรื่องเงินทุนและแหล่งเงินทุน และพม่าก็ติดปัญหาเรื่องของแรงงานที่ยังไม่มีความพร้อม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า และสถานที่ตั้ง โดยมองว่ารัฐบาลไทยควรร่วมมือกับรัฐบาลพม่าเพื่อแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น รองลงมาก็จะเป็นยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ