นายอดิศร มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คาดว่า ในปีนี้ KTB จะมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน หรือมีกำไรราว 2.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้ธนาคารจะมีการตั้งสำรองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองจำนวนมากมาหลายครั้งแล้ว แม้ว่าในไตรมาส 4/56 อาจจะต้องตั้งสำรองค่อนข้างสูงอีก แต่เมื่อเทียบกับทั้งปีแล้วจะตั้งสำรองลดลงจากปีก่อน รวมทั้งการเติบโตที่เห็นได้อย่างชัดเจนของรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้น KTB ยังมีความโดดเด่นในด้านของเงินปันผลหากเปรียบเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกัน และ จะได้รับประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการเริ่มโครงการก็ตาม แต่หากเริ่มเมื่อไหร่ใดทาง KTB ก็จะเป็นธนาคารที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า สินเชื่อของ KTB จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย 12% ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัว แต่ครึ่งปีแรกก็สามารถเติบโตได้แล้วกว่า 8% และในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีการเติบโตแบบชะลอตัว แต่ก็ยังมีการเติบโตอยู่ จึงคาดว่าสินเชื่อทั้งปีจะยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนลดลงจะไม่เป็นผลกระทบต่อ KTB มากนัก เนื่องจากลูกค้าหลักของ KTB คือการให้สินเชื่อแก่ภาครัฐ ที่ผ่านมามองว่าภาครัฐยังมีการลงทุนยังไม่มากเท่าที่ควร หากในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐออกมาเร่งการลงทุนให้มากขึ้นก็จะส่งผลให้ KTB มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะ KTB เองมีส่วนแบ่งการตลาดจากการลงทุนของภาครัฐสูงที่สุด
ทางด้านผลประกอบการ คาดว่าในปีนี้ KTB จะมีกำไรสุทธิเติบโตจากปีก่อนประมาณ 23% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่ากลุ่มที่คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 20% อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามการตั้งสำรองพิเศษที่ทาง KTB ยังมีการตั้งสำรองที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้กำไรสุทธิออกมาค่อนข้างมีความผันผวน
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรของ KTB ในปี 56 ลงเล็กน้อย แต่ปรับลดกำไรสุทธิปี 57 ลง 9% ทั้งนี้ เชื่อว่าผลประกอบการในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 47% แม้ว่าจะไม่มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และมีการตั้งสำรองพิเศษ
การเติบโตของกำไรมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้หลัก ซึ่งได้แรงหนุนจากส่วนต่างของอัตราสินเชื่อ(NIM)ที่มีเสถียรภาพและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วงครึ่งปีแรก KTB มีการตั้งสำรอง รวมทั้งสิ้น 5.8 พันล้านบาท และคาดว่าจะกันสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 4 นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารน่าจะได้รับเงินปันผลพิเศษในปีนี้จากการไถ่ถอนกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการตั้งสำรองเพิ่ม
ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวจากความสัมพันธ์ระหว่าง KTB และภาครัฐ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่ KTB จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะยาว เราจึงคาดว่าผลการดำเนินงานหลักของธนาคารจะฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบจากการตั้งสำรองฯ ไม่น่าจะส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรมากนักหลังจากปีนี้