(เพิ่มเติม) INTUCH คาดสรุปร่วมทุนโครงการ InVent อีก 1 รายในช่วงปลายปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 23, 2013 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤติกา มหัทธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจใหม่ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTUCH) คาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะสามารถสรุปการร่วมลงทุนในโครงการ InVent ได้อีก 1 รายจากที่เจรจากันอยู่ 3 บริษัทที่ทำธุรกิจซอฟท์แวร์ จากโครงการในมือที่มีอยู่ทั้งหมด 79 ราย ปัจจุบัน INTUCH ร่วมลงทุนไปแล้ว 3 ราย มีมูลค่าราว 100 ล้านบาท

ล่าสุด INTUCH เข้าร่วมทุนในบริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด ที่ INTUCH ถือหุ้นในสัดส่วน 25% เงินลงทุน 29 ล้านบาท และ เข้าร่วมทุนบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด INTUCH ถือหุ้นสัดส่วน 30% โดยลงทุน 5 ล้านบาท หลังจากเดือน ต.ค.55 บริษัทได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท อุ๊คมี จำกัด ลงทุนกว่า 60 ล้านบาท จากงบลงทุนในปีนี้จำนวน 200 ล้านบาท

นายกฤติกา กล่าวว่า โครงการ Invent ตั้งงบลงทุนปีละ 200 ล้านบาท เน้นร่วมลงทุนธุรกิจโทรคมนาคม ไอที มีเดีย ดิจิตอล คอนเท้นท์ แม้ว่าในปีนี้ใช้งบลงทุนไม่ครบตามที่ตั้งไว้ แต่ปีหน้าก็จะตั้งงบต่อเนื่องอีก 200 ล้านบาท หรืออาจจะเพิ่มมากขึ้น โดย Invent จะเข้าไปลงทุนนั้น INTUCH จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวการบริหาร และจะไม่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ โดยเมื่อบริษัทที่เข้าร่วมทุนเติบโตหลังจาก 3-5 ปีแล้วไม่ว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือมีผู้ลงทุนอื่นขอเข้าร่วมทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของต้องการถือหุ้นเพิ่มเติม INTUCH ก็พร้อมจะถอนตัว ประโยชน์จากการร่วมทุนในโครงการ Invent คือการสร้างบริการใหม่ๆตอบสนองลูกค้า ได้ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้น

"นโยบายลงทุนเราไม่จำกัดขนาดการลงทุนแต่เราจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะบริษัทเดิมมีผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว และไม่อยากให้รู้สึกว่าเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานแต่เราจะใช้สิทธิผู้ถือหุ้นดูนโยบายหลักการบริหารตัดการ"นายกฤติกา กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาระบบช่วยบริหารจัดการโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า "SocialEnable"ที่เป็นระบบช่วยให้องค์กรสามารถจัดช่องทางและมอนิเตอร์ช่องทางโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Google+ และ Pantip ได้อย่างรวดเร็วที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

อีกรายคือบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยในการสื่อสารผ่านทางสายตาสำหรับผู้ที่ไม่สามารถสื่อสารโดยการพูดหรือการใช้ท่าทางภายใต้แบรนด์ SenzE โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจจับการกระพริบตา (Eye Tracking System)ที่ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ภาษาไทยเครื่องแรกของโลก เป็นการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางสายตาสำหรับผู้ป่วยอัมพาตสำเร็จเป็นรายแรกของเอเชีย

ส่วน อุ๊คมี นายกฤติกา กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของอุ๊คมี เพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านรายจาก 2 ล้านรายในปีที่แล้ว และได้ขยายตลาดไปที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ