สมาคม บลจ.คาดปีนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตราว 10% จาก 2.6 ล้านลบ.ในปี 55

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 15, 2013 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน(บลจ.) คาดว่า ในปีนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยจะเติบโตราว 10% จากปีก่อนที่มีที่มีสินทรัพย์สุทธิ 2.6 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 7.2% คาดว่าในช่วงปลายปีจะมีกองทุน RTF และ LMF ออกมาเพิ่มอีก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มูลค่าสินทรัพย์เติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้

ด้านนายเอกชัย จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคม บลจ.กล่าวว่า สำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่งจัดตั้งในปีนี้นั้น ขณะนี้มีมูลค่าสินทรัพย์รวมราว 6.8 หมื่ล้านบาท หากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)สามารถจัดตั้งได้ภายในปีนี้ ก็จะทำให้สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นแตะ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 บริษัทที่เตรียมออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) คาดว่าน่าจะจัดตั้งกองทุนได้ในปี 57 และจะดันยอดสินทรัพย์รวมให้เพิ่มขึ้นไปแตะ 2 แสนล้านบาท

"เรามองว่าในปีหน้าจะมีการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก เนื่องจากมองว่าจะเป็นตัวผลักดันการพัฒนาประเทศ"นายเอกชัย กล่าว

นายพีร์ ยงวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีการเติบโตพอสมควร โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเติบโตประมาณ 7.26% อยู่ที่ระดับ 2.8 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 55 ที่อยู่ 2.6 ล้านล้านบาท จำนวนกองทุนรวมทั้งสิ้น 1,414 กอง เป็นกองทุนรวมใหม่ (IPO) ที่เสนอขายในปีนี้ 618 กองทุน มูลค่ารวม 1.16 ล้านล้านบาท และมีกองทุนที่หมดอายุ 613 กอง มูลค่ารวม 1.13 ล้านล้านบาท

กองทุนตราสารหนี้ยังคงเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดเช่นเดิม มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาท โดยกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศทั้งระยะสั้น-ยาวให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม Emergin Market ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย -4.42% มาจากความกังวลต่อการลดและยกเลิกมาตรการ QE

ด้านผลตอบแทนของกองทุนรวมในปีนี้มีความผันผวนเป็นอย่างมากในทุกประเภท โดยกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กลุ่ม Global Equity หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยทุกไตรมาสในปีนี้อยู่ที่ 14.06% กองทุนที่ลงทุนหุ้นในประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กทำผลตอบแทนเฉลี่ย 2.61% กองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในประเทศทำได้เฉลี่ย 3.58% ตามความผันผวนของ SET Index

ส่วนการลงทุนในกลุ่ม Emergin Market Equity ทำได้เฉลี่ย -2.94% กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย -1.42% ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลของเงินทุนที่ไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือกองทุนทองคำที่ -18.7% มาจากความกังวลเรื่องมาตรการ QE ขณะที่กองทุนน้ำมันพลิกกลับมาทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 7.34% ได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลต่อสถานการณ์ซีเรีย

นายพีร์ กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของกองทุนประเภท Trigger fund โดยนับจากต้นปีจนถึง 9 เดือน มีการออกมาแล้ว 84 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ถือเป็นสถิติใหม่ โดย 80% จะเน้นลงทุนในหุ้นไทย มูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Trigger fund ที่เน้นลงทุนหุ้นต่างประเทศมีอยู่ 14 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวม 6 พันล้านบาท

นายพีร์ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในช่วงนี้ถึงไตรมาส 1/57 ว่า ยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ทั้งเรื่องของเพดานหนี้ และการปิดหน่วยงานภาครัฐบางแห่งจากปัญหาเรื่องงบประมาณ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ยังไม่มีความแน่นอนของการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์ปัญหาต่างๆจะคลี่คลายลงในที่สุด แต่ก็แนะนำให้ระมัดระวังในการลงทุน และติดตามสถานการณ์ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความเหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ