MCOT เตรียมเจรจาช่อง 3 ดึงเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลแลกลดระยะเวลาสัมปทาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 21, 2013 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอเนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท(MCOT)เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเจรจาบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (ช่อง 3)ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีอีซี เวิลด์(BEC) เพื่อเสนอให้เข้ามาเช่าโครงข่ายของระบบทีวีดิจิตอล(MUX)ของ MCOT แลกกับการลดระยะเวลาสัมปทานของช่อง 3 ที่จะสิ้นสุดในปี 63 ซึ่งจะทำให้รายจ่ายของ BEC ลดลง

และจะขอเพิ่มใบอนุญาตเป็นผู้เช่าโครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX)อีก 1ใบเพื่อจะได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมามีกรณีศึกษาที่กองทัพบกได้ขอใบอนุญาต MUX ใบที่ 2 ซึ่งกองทัพบกจะให้ช่อง 7 เช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล แลกกับการลดระยะเวลาสัมปทานให้ 5 ปี

นายอเนก กล่าวว่า ในวันนี้เข้ามาชี้แจงการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลให้กับผู้ที่จะยื่นประมูลช่องรายการธุรกิจ โดยอธิบายว่าเหตุผลที่ค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลของ MCOT สูงกว่าอีก 3 ราย เนื่องจากบริษัทได้ลงทุนเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด ใช้งบลงทุนประมาณ 1.4-1.5พันล้านบาททั้งโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้เร็ว คาดว่าในปี 57 จะครอบคลุมพื้นที่ได้ 80% และเพิ่มเป็น 95% ภายในสิ้นปี 58 ทั้งนี้ จะมีสถานีหลักและสถานีรอง 186 สถานี มากกว่ารายอื่น

"ราคาค่าเช่าโครงข่ายสูงกว่า 3 ผู้ประกอบการไม่เท่าไร เพราะเราเปลี่ยนอุปกรณ์จากอนาล็อก เพิ่มสถานีรับส่งก็น่าจะทำให้เราครอบคลุมได้ทั่วถึงต่างกับรายอื่น"นายอเนก กล่าว

ด้านพันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท. )กล่าวว่า กสทช.ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย 4 ราย ชี้แจงข้อมูลและเงื่อนไขรายละเอียดค่าโครงข่าย พื้นที่การติดตั้งโครงข่ายครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลที่ซื้อซองไป 33 ราย

สำหรับราคาค่าโครงข่ายที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนดมานั้น เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลางที่บริษัทที่ปรึกษาของ กสท.ได้คำนวณไว้ แต่จะปรับราคาลงได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองของผู้เช่าและเจ้าของโครงข่าย โดยหากลดราคาลงก็จะต้องปรับลดราคาให้กับผู้เช่าทุกรายเพื่อความเป็นธรรม หลังจากนี้หากทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายและผู้เช่าโครงข่ายพอใจในอัตราค่าเช่า ก็สามารถทำสัญญาล่วงหน้ากันไว้ก่อนได้

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการเช่าโครงข่าย มี 4 ราย ได้แก่ 1. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ซึ่งเสนอราคาค่าเช่าโครงข่ายสำหรับช่องรายการทีวีดิจิตอลแบบความคมชัดมาตรฐานปกติ(SD) ราคา 4.6 ล้านบาท/เดือน ช่อง HD ราคา 13.81 ล้านบาท/เดือน ซึ่งเป็นราคาเช่าต่ำสุด 2. กรมประชาสัมพันธ์ เสนอราคาช่อง SD เดือนละ 4.65 ล้านบาท ช่อง HD เดือนละ 13.95 ล้านบาท 3.กองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ช่อง5) เสนอราคา ช่อง SD เดือนละ 4.72 ล้านบาท และช่อง HD เดือนละ 14.16 ล้านบาท 4. MCOT หรือช่อง 9 เสนอราคาช่อง SD ราคา 4.76 ล้านบาท/เดือน ช่อง HD ราคา 14.28 ล้านบาท/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ