กสทช.สรุปเอกชนยื่นประมูลทีวีดิจิตอล 29 ราย 41 ซอง ชิงช่อง SD มากสุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 29, 2013 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่ได้มีการเปิดให้ยื่นคำขอใบอรุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ และได้สิ้นสุดเวลา 16.00 น.วันนี้ ของการทำการยื่นคำขอดังกล่าว โดยมีผู้สนใจเข้ายื่นแบบคำขำฯ เป็นจำนวน 29 บริษัท 41 แบบคำขอ คิดเป็นวงเงินหลักประกัน 2,271 ล้านบาท

ทั้งนี้แบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ โดยหมวดหมู่เด็กเยาวชน และครอบครัว มีผู้ยื่นแบบคำขอฯ จำนวน 6 บริษัท คือ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท ไทยทีวี จำกัด บมจ. อสมท (MCOT) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (บริษัทในกลุ่ม BEC) บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด (บริษัทในกลุ่ม NMG) และบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด (บริษัทกลุ่ม TRUE) รวมหลักประกัน 84 ล้านบาท

หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีผู้ยื่นแบบคำขอฯจำนวน 10 บริษัท คือ บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (บริษัทในกลุ่มเดลินิวส์) บริษัท 3เอ.มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด (บริษัทร่วมทุน SAMART) บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด (บริษัทในกลุ่ม POST) บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่มMONO) บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่ม NMG) และบริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด รวมหลักประกัน 220 ล้านบาท

หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้ขอยื่นแบบคำขอฯ จำนวน 16 บริษัท คือ บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่มช่อง 7) บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่ม RS) บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่ม AMARIN) บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (บริษัทในกลุ่มไทยรัฐ)บริษัท ไทยทีวีจำกัด บริษัท ทัช ทีวี จำกัด (บริษัทในกลุ่ม INTUCH) บริษัท บีอีซี-มัลคิมีเดีย จำกัด บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (บริษัทในกลุ่ม WORL) บมจ. อสมท (MCOT) บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด (บริษัทในกลุ่ม GRAMMY) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บริดคาสติ้ง จำกัด บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด รวมหลักประกัน 608 ล้านบาท

หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้ยื่นแบบคำขอฯ จำนวน 9 บริษัท คือ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด(ช่อง 7) บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (บริษัทในกลุ่ม AMARIN) บริษัท พี เอ็ม กรุ๊ป จำกัด บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (บริษัทในกลุ่ม BEC) บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด บมจ.อสมท (MCOT) บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวีจำกัด (บริษัทในกลุ่ม GRAMMY)บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด และบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (บริษัทในกลุ่มไทยรัฐ) รวมหลักประกัน 1,359 ล้านบาท

กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารอย่างละเอียด จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล โดยทางสำนักงานทกสทช.จะประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 45 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันสุดท้าย คือวันที่ 13 ธ.ค.56 และจะนำเสนอบอร์ด กสทช.ให้มีการกำหนดวันประมูลขึ้น

นอกจากนี้ตนขอให้ผู้เข้ายื่นคำขอฯ ทุกราย ปฎิบัติตามข้อกำหนด โดยต้องห้ามติดต่อสื่อสารกับผู้ยื่นึขอรายอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการประมูลใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ฯ จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการประมูลโดยการประกาศและรับรองรายชื่อผู้ชนะการประมูล โดยระหว่างนี้ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องห้ามการให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่จะแข่งขันราคา หรือเรื่องที่ทำให้ส่งสัญญาญไม่ให้เกิดการแข่งขันราคาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ยื่นต้องระมีดระวังการให้ข้อมูล

"เรียนผู้ยื่นคำขอฯทุกรายให้ปฎิบัติตามกฎ Silent Period คือห้ามมีการให้ข่าวที่แสดงออกไปถึงการส่งสัญญาณกับผู้ยื่นรายอื่น ที่จะนำไปสู่การฮั้วการประมูลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามพูดเรื่องงบประมาณ หรือเกี่ยวกับเงิน"เลขาธิการ กสทช.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ