บลจ.กสิกรไทย ปี 57 ตั้งเป้า AUM โตทะลุ 1 ลลบ.จาก 9.3 แสนลบ.ปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 23, 2013 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจงรัก รัตนเพียร ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในธุรกิจจัดการกองทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 พร้อมวางเป้าหมายปี 57 ด้วยการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งแรกในประเทศที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 1,000,000 ล้านบาท จาก 9.3 แสนล้านบาทในปีนี้

บริษัทเชื่อมั่นว่าปี 57 อุตสาหกรรมจัดการกองทุนจะยังคงเติบโตได้อีก เนื่องจากผู้ลงทุนในวงกว้างเริ่มมีความเข้าใจในการลงทุนที่ดีขึ้น อีกทั้งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะมีความเปราะบางอยู่บ้างแต่ก็ส่งสัญญาณในทางบวกมากขึ้น ซึ่ง บลจ.ได้คัดสรรจากสินทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ลงทุน

ในด้านการบริหารกองทุนต่างประเทศ(FIF) ทั้งกองทุนเดิมและกองทุนใหม่ที่เสนอขายครั้งแรกในปี 56 ซึ่งได้แก่กองทุน K-USXNDQ (กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100) K-EUROPE (กองทุนเปิดเค ยุโรเปียนหุ้นทุน) K-ASIA (กองทุนเปิดเค เอเชียนสมอลเลอร์ หุ้นทุน ) ก็ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดีตลอดปี 56 ทำให้บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 40,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36% ของกองทุน FIF ในอุตสาหกรรม ในขณะที่ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน FIF ในเกือบทุกประเภท เช่น กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นสหรัฐฯ กองทุนผสม กองทุนตลาดเกิดใหม่เป็นต้น ยังติดอันดับ 1 ใน 3 กองทุนที่มีผลการดำเนินงานสูงที่สุดอีกด้วย (ณ 13 ธ.ค.56)

ทั้งนี้ มั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนในกองทุน FIF จะเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นในปี 57 จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือความไม่แน่นอนของช่วงเวลาการไถ่ถอน QE ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีความมั่นคง

รวมถึงการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค และช่วยชดเชยกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การลงทุนในประเทศก็ยังมีความน่าสนใจแม้จะมีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนในต่างประเทศ โดยคาดว่าปี 57 จะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไปอยู่ที่ร้อยละ 4-5 จากร้อยละ 2.6-3.0 โดยมีตัวแปรสำคัญคือสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเดินหน้าแผนการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย บลจ.กสิกรไทย มองว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตได้ดีจากการบริโภคในประเทศ ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ ส่งออก สินค้าโภคภัณฑ์ และ อสังหาริมทรัพย์ โดย บลจ.กสิกรไทย มองเป้าหมาย SET Index ในปี 57 ที่ 1,520จุด ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ บลจ.กสิกรไทย จะยังคงรักษา พอร์ตโฟลิโอ ดูเรชัน (Portfolio Duration) ที่ระดับปานกลางเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในลักษณะผ่อนคลาย โดยที่ยังคงเน้นการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้ามาลงทุนกับตราสารหนี้ในประเทศ และจะทยอยเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ธนาคาร โดยเฉพาะสถาบันการเงินภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ยังคงให้โอกาสรับผลตอบแทนดี"

"การเป็นผู้นำในธุรกิจจัดการกองทุนของ บลจ.กสิกรไทย นั้น ช่วยเพิ่มอำนาจในการเข้าถึงตราสารที่มีคุณภาพ แหล่งข้อมูลที่หลากหลาย รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ และเพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าและผู้ออกตราสาร พร้อมทีมจัดการกองทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์และความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล ทำให้มีความได้เปรียบในการหาโอกาสลงทุนทุกช่วงเศรษฐกิจ รวมถึงมีกองทุนที่หลากหลายนโยบาย และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างเหมาะสม โดยยึดมั่นจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านบริการของ K-Expert

นอกจากนี้ในด้านการบริการก็มีการประสานงานกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อพัฒนาบริการต่างๆที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนได้ตรงจุด อาทิ บริการ K-Cyber Invest ซึ่งในปี 56 มียอดผู้สมัครใช้บริการมากกว่า 90,000 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 19% จากปี 2555 และสามารถนำเสนอบริการใหม่ๆที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนได้ตรงจุด เช่น การเปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการซื้อ LTF/RMF บนเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถยื่นภาษีได้เร็วขึ้น"นายจงรัก กล่าวในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ