บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ออกกองตราสารหนี้6เดือนผลตอบแทน3.05%ขาย27-29ม.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday January 26, 2014 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า บลจ.จะเปิดเสนอขาย"กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ ตราสารหนี้ 6M17" อายุโครงการประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ ส่วนที่ลงทุนในต่างประเทศจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 79 ของ NAV กองทุน CIMB-PRINCIPAL EFI 6M17 ประมาณการผลตอบแทนที่ 3.05% ต่อปี โดยเสนอขายครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 27-29 มกราคม 2557

ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่านโยบายการเงินแบบผ่อนปรนในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ยืดเยื้อก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ดังนั้น เราคาดการณ์ว่าภาวะดอกเบี้ยไทยจะคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งหรืออาจมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการประชุมของ กนง.ครั้งต่อไป

"มองว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ทางเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำและระยะเวลาการลงทุนสั้น และต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการลงทุนกับตราสารหนี้ในประเทศที่มีอายุใกล้เคียงกัน เราขอเสนอทางเลือกในการลงทุนในกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ ตราสารหนี้ 6M17 ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อายุการลงทุนประมาณ 6 เดือน ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 3.05% ต่อปี พร้อมนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน โดยผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี" นายจุมพล กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับความผันผวนของตลาดหุ้นและสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และรวมถึงการที่สำนักวิจัยหลายแห่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยไทยมีโอกาสปรับลดลงได้อีกในอนาคต ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจจะพิจารณาเลือกลงทุนเพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนในระดับดังกล่าวไว้และนับเป็นการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ