ส.ตราสารหนี้ไทย เตรียมเสนอโครงการบอร์ด SRO กำกับดูแลสมาชิกตามแบบเกาหลี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 17, 2014 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า สมาคมตราสารหนี้มีแนวคิดที่จะเพิ่มบทบาทของสมาคมเป็น SRO (Self Regulatory Organization) โดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ ในบทบาทของ The Korea Financial Investment Association (KOFIA) ในฐานะ SRO ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลสมาชิก ออกกฎระเบียบต่างๆ กระบวนการกำกับดูแล มีระบบให้ความเป็นธรรมกับสมาชิก

เบื้องต้นสมาคมฯ มีแนวคิดที่จะแยกคณะกรรมการออกเป็น 2 คณะ โดยแยกออกจากคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อทำหน้าที่เป็นบอร์ด SRO กำกับดูแล ออกกฎระเบียบ และตรวจสอบสมาชิก ส่วนคณะกรรมการชุดใหญ่ชุดเดิมมีหน้าที่ดูแลพัฒนาตลาดตราสารหนี้ วิธีการซื้อขาย ออกตราสาร กำหนดหลักเกณฑ์ของตลาด ซึ่งจะเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อเสนอโครงสร้างรายละเอียดการให้อำนาจบอร์ดใหม่ เพื่อออกประกาศในเม.ย.และคาดเริ่มต้นใช้พ.ค.นี้ โดยจะทดลองใช้ 1 ปี เพื่อดูว่าเมื่อแยกโครงสร้างแล้วเกิดประโยชน์จริงต่อตลาดและการกำกับหรือไม่

โครงสร้างบอร์ด SRO มีคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย กรรมการผู้จัดการสมาคมตราสารหนี้ไทย 1 คน ตัวแทนคณะกรรมการชุดใหญ่ (สมาชิก) 3 คน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 1 คน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 1 คน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ส่วนคณะกรรมการชุดใหญ่เดิม ประกอบด้วย กรรมการ 11 คน

"ได้มีการหารือกับ ก.ล.ต. แล้วเพราะ ก.ล.ต.อยากให้มี SRO ทุกสมาคม บอร์ด SRO มีหน้าที่สร้างกติกา ตรวจสอบ กำกับดูแล ลงโทษ เชื่อว่าจะทำหน้าที่ในเชิงกำกับได้ดีมากขึ้น" นายนิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้ (57)สมาคมฯ ยังคงตั้งเป้ามีหุ้นกู้ออกใหม่ 4.0-4.2 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งใน 4 แสนกว่าล้านบาทนี้เป็นหุ้นกู้ของภาคเอกชนเพื่อออกมาเพื่อปรับโครงสร้างหนี 2.4 แสนล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ออกใหม่ 1.6 แสนล้านบาท ยอมรับว่าการเมืองมีผลให้ชะลอออกตราสารบ้างตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการออกหุ้นกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 2.4 แสนล้านบาทคงต้องเป็นไปตามแผนงานไม่ว่าภาพรวมตลาดจะเป็นอย่างไร ขณะที่เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่น่าจะยาว

“คาดอีก 3 เดือนการเมืองต้องจบ ยังมั่นใจตัวเลข 4 แสนล้านบาท ออกตราสารใหม่ปีนี้ ไม่ปรับ"นายนิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 56 มีผู้ออกตราสารใหม่มากขึ้น 14 ราย (รายใหม่) เป็นสัญญาณที่ดีบ่งบอกว่าตลาดบอนด์เริ่มเป็นแหล่งเงินทุนของภาคเอกชนมากขึ้นนอกจากการกู้แบงก์ ส่วนปีนี้ตั้งเป้าผู้ออกตราสารรายใหม่น่าจะเกิน 10 รายขึ้นไป ขนาดบริษัทคงไม่เล็กมาก ณ ปัจจุบันมีผู้ออกตราสารเกือบ 200 ราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียน 120 ราย จากในตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท น่าจะมีศักยภาพที่จะออกหุ้นกู้ได้อีกมาก

นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน ณ 13 ก.พ.57 ยอดเงินไหลออกจากตลาดแล้วราว 2 หมื่นล้านบาท และมียอดซื้อสุทธิในตราสารระยะสั้น 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท และยอดขายสุทธิในตราสารระยะยาว 2.7 หมื่นล้านบาท เป็น flow out จากการขายออก 6-7 พันล้านบาท และจากการไถ่ถอนตราสารที่ครบอายุ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศนั้นมางสมาคมฯให้น้ำหนักเรื่องการลดขนาดมาตรการ QE มากกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งตอนนี้ช่วงก.พ.การไหลของเงินทุนต่างประเทศช้าลงแล้ว

ส่วนความเป็นห่วงในกระแสที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินไปช่วยในโครงการจำนำข้าวนั้น นายนิวัฒน์ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่ที่การตีความว่ารัฐบาลในขณะนี้สามารถทำได้หรือไม่ เพราะมีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการอาจมีข้อกฎหมายมาตราหนึ่งห้ามมีภาระผูกพัน หรือแม้แต่รัฐบาลจะออกพันธบัตรได้ แต่หากจะนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว นักลงทุนต่างชาติหรือคนที่จะมาซื้อพันธบัตรก็อาจจะมองว่าเป็นความเสี่ยง จึงอาจยังไม่กล้าที่จะเข้าไปลงทุน ขณะที่ธนาคารต่างๆ เองก็ไม่กล้าปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล ส่วนหนึ่งเพราะอาจมีความเสี่ยงแง่กฎหมาย ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ จึงจะดึงนักลงทุนทั้งสถาบันและทั่วไปให้กล้าเข้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ