MALEE เร่งเจรจาลูกค้าใหม่คาดสรุปงานรับจ้างผลิตเครื่องดื่มภายใน Q1/57

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 17, 2014 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รุ่งฉัตร บุญรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.มาลีสามพราน (MALEE) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาในเชิงธุรกิจสำหรับการรับจ้างการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกับเจ้าของสินค้าชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายราย ซึ่งคาดว่าจะมีผลสรุปเบื้องต้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ปัจจุบัน MALEE ดำเนินธุรกิจทั้งแบบ Own Brand Manufacturing คือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องภายใต้ แบรนด์ MALEE รวมถึงนมสด 100% ตราฟาร์มโชคชัย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ รับจ้างผลิต (Contract Manufacturing) ให้กับบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทได้รับการตอบรับที่ดีจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “Malee Healti Plus" เมื่อเดือน ก.ย.56 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่ผสมน้ำแร่ธรรมชาติเป็นเจ้าแรกในไทย เพื่อเอาใจผู้รักสุขภาพ ได้รับการตอบรับ อย่างดี โดยสามารถช่วยเพิ่มยอดขายในกลุ่มน้ำผลไม้ของบริษัทฯ เติบโตได้ประมาณ 10% และเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะสามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นได้ประมาณเฉลี่ยร้อยละ 15 เนื่องจากมีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งใน ตลาดอย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายและมี จุดเด่นแตกต่างจาก คู่แข่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มที่รักสุขภาพทั้งตัวเอง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว ด้านนายฉัตรชัย บุญรัตน์ ประธานกรรมการ MALEE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ว่า บริษัทมียอดขายรวม 5,087.6 ล้านบาท ลดลง 1,069.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ขณะที่ยอดขายจากธุรกิจตราผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 มีกำไรขั้นต้น 1,451.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.5 ของยอดขายรวม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกำไรขั้นต่ำที่สูงกว่ากำไรในปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.4 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการขายของแต่ละธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน ทั้งวัตถุดิบและการผลิต

ทั้งนี้ กำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในปีที่แล้วอยู่ที่ 386.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 283 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย ในการบริหารจำนวน 358.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 จากค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค่าใช้จ่าย ก่อนดำเนินการขยายกำลังการผลิต ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานผลิตข้าวโพดหวานของบริษัทย่อย 14 ล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

"ปี 56 ภาพรวมทางธุรกิจยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจถึงแม้ว่าจะมีอัตราชะลอตัวลงเล็กน้อยจากก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัย หลายประการโดยเฉพาะในเรื่องการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยตรง การกลับเข้าสภาวะปกติของรายได้รับจ้างผลิต จากที่เพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมโรงงานของคู่ค้าในปลายปี 54 และ 55 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่"นายฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ