ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 269,247 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 17, 2014 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (10 – 13 กุมภาพันธ์ 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 269,247 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 67,312 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 64% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 171,918 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง(Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 67,218 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,808 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.3 ปี) LB196A (อายุ 5.3 ปี) และ LB155A (อายุ 1.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 15,859 ล้านบาท 12,135 ล้านบาท และ 8,053 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14304A (อายุ 14 วัน) CB14515B (อายุ 91 วัน) และ CB14410A (อายุ 56 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 31,414 ล้านบาท 26,224 ล้านบาท และ 10,954 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) รุ่น BTG14NA (A) มูลค่าการซื้อขาย 484 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) รุ่น SCC19OA(A) มูลค่าการซื้อขาย 454 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT149A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 376 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ของตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 3 ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ประมาณ 1 Basis point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่ Yield ของตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -4 ถึง -10 Basis Point ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ที่ยังคงมีแรงซื้อตลอดทั้งสัปดาห์หลังจาก sentiment ของตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้นักลงทุนมีมุมมองว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงถัดไป ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองนั้นน่าจะคลี่คลายได้ในไม่ช้า นอกจากนี้แล้ว จากปัญหาการไหลออกของเงินลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่(Emerging Market) หลายแห่ง โดยมีสาเหตุหลักมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศเหล่านั้น ทำให้มุมมองต่อการลงทุนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากไทยยังมีพื้นทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแรง ขณะเดียวกันปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่คลี่คลายลงหลังจากสภาคองเกรสมีมติอนุมัติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ฯ ออกไปจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 บวกกับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) ที่ออกมาส่งสัญญาณว่า จะยังคงเดินหน้าการลดขนาดของมาตรการ QE ต่อไป หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น อย่างไรก็ตามการลดขนาดของมาตรการ QE ในช่วงถัดไปอาจกดดันให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยได้อีก ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 10,326 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 533 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น(อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 9,793 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 129 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ