THAI มั่นใจปีนี้พลิกกำไร เร่งเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย,cabin factor Q2 ที่70%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 7, 2014 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ยังมั่นใจผลประกอบการปี 57 ของบริษัทจะมีกำไร โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนธุรกิจปี 57 ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทแล้ว โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ปรับลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 2,000 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายรายได้ปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3-4% จากปี 56 ที่มีรายได้ 2.05 แสนล้านบาท โดยจะเร่งหารายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการขายตั๋วโดยสาร เช่น จากสินค้าปลอดภาษีบนเครื่อง (Duty on Board) ,สินค้าไทยช้อป (Thai Shop) ,สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บนเครื่องบิน ซึ่งบริษัทยังมีรายได้น้อยมาก ขณะที่โดยเฉลี่ยของสายการบินทั่วไปจะมีรายได้จากธุรกิจส่วนนี้ประมาณ 5%

ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวมากนักเหมือนช่วงเดือนพ.ย.56- ก.พ57 ที่ผ่านมา เพราะเริ่มเข้าใจสถานการณ์ รวมถึงยังมั่นใจว่าจะราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับที่คาดหมายไว้ประมาณ 127-130 ดอลล่าร์ฯต่อบารเรล

ขณะที่ในไตรมาส 2/57 ซึ่งเป็นช่วง Low Season ยังไม่น่ากังวลมากนักและเชื่อว่าจะมีผลประกอบการที่ดีกว่าไตรมาส 2/56 เนื่องจากบริษัทมีการปรับลดปริมาณเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการโดยลดลงประมาณ 10% จากปกติ ส่วนกำลังการผลิตลดลงประมาณ 3-4% ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ขณะเดียวกันตลาดนักท่องเที่ยวจีนและในภูมิภาคยังมีแนวโน้มที่ดี แม้ตลาดทางยุโรปจะลดลงก็ตาม ซึ่งบริษัทได้ออกโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่หลากหลายเพื่อรองรับไปถึงปิดเทอมและเทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/57 มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 72% เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปี 56 ที่มี Cabin Factor 76-78% ส่วนไตรมาส 2/57 คาดว่า จะมี Cabin Factor เฉลี่ย 70% ซึ่งเป็นอัตราปกติของช่วง Low Season และไม่ใช่สิ่งที่จะบอกผลประกอบการของทั้งปี 57

นายโชคชัย กล่าวยอมรับว่า ปัญหาสำคัญของการบินไทยที่ส่งผลให้ต้องประสบกับภาวะขาดทุนในปี 56 ถึง 1.2 หมื่นล้านบาทคือ ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันการสถานการณ์และพฤติกรรมของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข โดยกลยุทธ์ในปี 57 จะมีการรวมศูนย์ข้อมูล โดยรวมบางหน่วยงาน ปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ตั้งแต่การคิด,ตัดสินใจ,ดำเนินการปฎิบัติ มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาวิเคราะห์ปรับแก้ ซึ่งหากรวบรวมข้อมูลได้เร็ว แม่นยำตัดสินใจจะรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ประชุมบอร์ดการบินไทยได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างบริษัทจากเดิมที่หน่วยงาน 15-16 หน่วยต้องขึ้นตรงกับกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี ให้เหลือ 9 หน่วยงาน และมอบหมายให้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รับผิดชอบหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เช่น บริการภาคพื้น (Ground Service) , การขนส่งสินค้า (Cargo) ,บริการอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Equipment) โดยฝ่ายบริหารและพนักงานต้องร่วมมือกันทำตามแผน

"จุดอ่อนหนึ่งของธุรกิจการบินคือ ต้องขายตั๋วล่วงหน้า ส่วนปัญหาคือ บริษัทปรับตัวได้ช้า ซึ่งฝ่ายบริหารได้เสนอยุทธศาสตร์ในปี 57 ต่อบอร์ดแล้ว โดยเป้าหมายหลัก จะต้องปรับตัวให้รวดเร็วเพื่อตอบสนองลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วได้ทันเวลา,เพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่น,ลดค่าใช้จ่ายและใช้การบินไทยควบคู่ไทยสมายล์ ซึ่งคาดหวังว่าไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 57 เป็นช่วง High Season"นายโชคชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ