ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 432,545 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 10, 2014 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (3 – 7 มีนาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 432,545 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 86,509 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 20% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 67% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 291,215 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 95,876 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,092 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.3 ปี) LB196A (อายุ 5.3 ปี) และ LB145B (อายุ 0.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 25,857 ล้านบาท 25,815 ล้านบาท และ 12,455 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14410A (อายุ 34 วัน) CB14325A (อายุ 14 วัน) และ CB14605B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 37,012 ล้านบาท 23,187 ล้านบาท และ 23,095 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) รุ่น TISCO144A (A) มูลค่าการซื้อขาย 608 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด รุ่น ICBCTL189A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 509 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) รุ่น MBK229A (A) มูลค่าการซื้อขาย 402 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล(Yield) ในตราสารหนี้ระยะสั้นอายุน้อยกว่า 1 ปี ปรับตัวลดลง ในช่วงประมาณ -3 ถึง -6 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ +1 ถึง +4 Basis Point โดยประเด็นที่มีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของการคาดการณ์เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มี.ค. 57 นี้ จากการที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 Day) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง การคาดการณ์ดังกล่าวทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ นอกจากนี้แล้ว ผลการประมูลพันธบัตร ธปท. รุ่นอายุ 1 ปี ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก โดยมีค่า Bid Coverage Ratio (BCR) สูงถึง 4.04 เท่าของวงเงินประมูล ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น) อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนที่เริ่มคลี่คลายลงหลังจากรัสเซียได้สั่งให้กองทัพที่ซ้อมรบใกล้พรมแดนยูเครนเดินทางกลับฐานทัพ ทำให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury) และส่งผลให้ Yield ของ US Treasury เพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะในตราสารระยะยาวที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 Basis Point ซึ่งส่งผลให้ Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 – 19 มีนาคมนี้ เนื่องจากจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ QE ซึ่งจะมีผลต่อการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินทุนต่างชาติในช่วงระยะเวลาถัดไป

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 11,690 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 497 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 11,193 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 49 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ