HANA พุ่ง 5.61% แนวโน้มธุรกิจช่วง H1/57 สดใส, ได้ป.ย.จากบาทอ่อนค่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 13, 2014 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น HANA ราคาพุ่งขึ้น 5.61% มาอยู่ที่ 28.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 48.98 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.41 น. โดยเปิดตลาดที่ 26.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 27.25 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 28.25 บาท

บล.เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ (HANA)ได้รับผลประโยชน์จากบาทอ่อนเต็ม ๆ กำหนดมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2557 อิงวิธี DCF (WACC 9.69%) เท่ากับ 31.60 บาท

ผู้บริหารของ HANA ประเมินแนวโน้มธุรกิจในช่วง 1H57 จะสดใสมากขึ้น สอดคล้องกับมุมมองบวกของฝ่ายวิจัย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มความต้องการใช้ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์หลอดไฟ LED และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะเติบโตโดดเด่นในตลาดสหรัฐฯ และประเทศจีน รวมถึงผลิตภัณ์หน้าจอ Touch screen ของสินค้าประเภท Smartphone และ Tablet ที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกหันมาออกผลิตภัณฑ์ให้มีราคาถูกลง และเน้นทำการตลาดให้กับผู้บริโภคระดับล่างให้เข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น จึงคาดว่าจะเห็นเติบโตที่สูงมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ HANA ยังได้เริ่มผลิตสินค้าใหม่ได้แก่ USB Memory stick Memory card และระบบ LAN ไร้สาย ตั้งแต่งวด 1Q57 เป็นต้นไปซึ่งล้วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ และน่าจะช่วยหนุนยอดขายรวมของ HANA ในปี 2557 สำหรับงบค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ในปี 2557 กำหนดไว้ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.32 พันล้านบาท) ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากแผนที่เคยนำเสนอในช่วงผ่านมา โดยเป็นการใช้สร้างโรงงานที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา (เริ่มผลิตในปี 2558) และโรงงานลำพูนเฟส 2 (เริ่มผลิตในช่วง 2H57) ทำให้คาดว่ากำลังการผลิตใหม่ ณ สิ้นปี 2557 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 25% จากเดิม

ความคืบหน้าในประเด็นเรื่องเงินประกันน้ำท่วม ซึ่งบริษัทฯ ยังคาดหวังเงินประกันจากการหยุดชะงักทางธุรกิจส่วนที่เหลืออีกราว 1.35 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปจากบริษัทประกันภัยภายในปี 2557 ซึ่งยังไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ

ทั้งนี้ ยังคงประมาณการปี 2557-58 โดยแนวโน้มกำไรปกติ (ไม่รวมเงินประกันน้ำท่วม) ในปี 2557 เท่ากับ 1.8 พันล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 24% yoy ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของยอดขายรวมที่ระดับ 30% yoy จากคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 7.4% yoy นอกจากนี้ แนวโน้ม Gross Margin คาดว่าจะปรับสูงขึ้นสู่ 11.5% จาก 11.3% ในปีก่อนหน้า และสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/Sales จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.7% จาก 5.0 % ในปี 2556 ผลจากการฟื้นตัวของโรงงานอยุธยาที่กลับมาผลิตจนเกินจุดคุ้มทุนแล้ว และการเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ