VGI อ้างผลสำรวจไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารBTS ซื้อสินค้าจากความสะดวกมากกว่าราคา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 27, 2014 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อินเทจ (ประเทศไทย) เผยผลสำรวจไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารบีทีเอสกับพฤติกรรมการใช้จ่ายบนสถานีรถไฟฟ้าพบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนโสด มีการศึกษาสูง นิยมใช้ชีวิตนอกบ้าน พร้อมใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทางด้านบริการ ระบุพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อคำนึงถึงความสะดวกและความน่าเชื่อถือของแบรนด์สินค้ามากกว่าราคาสินค้า ชี้เป็นโอกาสของกลุ่มเจ้าของสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และบริการต่างๆ สามารถเลือกใช้พื้นที่สถานีบีทีเอสเป็น outlet โกยรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่โดยสารรถไฟฟ้า

นางสาวดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านวิจัยตลาด เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลล่าสุดโดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้รถไฟฟ้า 700 คน บนรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม ศาลาแดง อโศก อ่อนนุช อารีย์ และหมอชิต เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้โดยสาร บีทีเอสกับการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างเพศชาย 315 คน และเพศหญิง 385 คน

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ครองตัวเป็นโสด และกลุ่มนักศึกษาที่ครอบครัวมีระดับรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีอำนาจกำลังซื้อสูงและพร้อมจับจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการ

ทั้งนี้ หากเจาะลึกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและพฤติกรรมการซื้อสินค้า พบว่า กลุ่มผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จะนิยมการใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ประจำวัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและใช้จ่ายเงินสูงสุดในช่วงเวลา เมื่อออกมาดำเนินชีวิตทำกิจกรรมนอกบ้านมากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้จ่ายเงินเพื่อทานอาหารและช้อปปิ้งซื้อสินค้าและบริการ คิดเป็น 28.88% และ 20.54% ของรายได้ต่อเดือน ขณะที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี อยู่ที่ 25.68% และ 20.02% ของรายได้ต่อเดือน ตามลำดับ

สินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้โดยสาร ที่เลือกซื้อบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสของกลุ่มตัวอย่าง จะเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร น้ำดื่ม หนังสือ การใช้บริการทางการเงิน และกลุ่มเวชภัณฑ์ ซึ่งการตัดสินใจซื้อนั้นจะให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการซื้อสินค้ามากกว่าการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านราคา ที่ถือเป็นจุดแข็งของร้านค้าที่เปิดให้บริการตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ที่เข้าถึงง่าย และอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารบีทีเอสมากที่สุด

จากข้อมูลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าและบริการ มีความเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้โดยสาร เพื่อผลักดันยอดขายสินค้าบนสถานีรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะแต่สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีสินค้าและบริการที่เน้นความสะดวกสบาย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาเวชภัณฑ์ ร้านหนังสือ เพย์พอยท์ (Pay point) ธนาคาร และตู้เอทีเอ็ม สามารถสร้างยอดขายจากกลุ่มผู้โดยสารบีทีเอสได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ