AOT เตรียมทุ่มงบ 2 หมื่นล้านบาทขยายท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 4

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 10, 2014 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท.วางแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 4 โดยใช้เม็ดเงินลงทุนเกือบ 2 หมื่นล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3(Juntion Terminal) สำหรับเชื่อมกับรถไฟฟ้าสีแดงและขนส่งสาธารณะ

"ขณะนี้มีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 4 วงเงินลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในรูปแบบ Juntion Terminal บริเวณที่ว่างระหว่างอาคารจอดรถ 7 ชั้น กับอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ วงเงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 3,4 เป็นสำนักงาน(Airport office), ศูนย์การเรียนรู้, โรงเรียนด้านการบินต่างๆ และช้อปปิ้งมอลล์ วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการศีกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอขออนุมัติแผนดำเนินงานและการลงทุนต่อไป" ว่าที่เรืออากาศโท จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท.กล่าว

ทั้งนี้ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3(Juntion Terminal) จะให้เป็นอาคารสำหรับการเชื่อมต่อระบบราง ซึ่งจะระบบต่อเชื่อมกับรถไฟสายสีแดงและสีเขียว โดยภายในอาคารจะมีระบบอัตโนมัติสำหรับผู้โดยสาร สามารถเช็คอิน โหลดกระเป๋า ด้วยตัวเอง ส่วนด้านล่างของอาคารจะเป็นศูนย์รวมระบบขนส่งทุกประเภท รถเมล์ แท็กซี่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 150,000 ตารางเมตร ส่วนคลังสินค้า 3,4 ที่จะนำมาปรับปรุงนั้นจะไม่กระทบต่อการให้บริการด้านขนส่งสินค้า เนื่องจากปัจุบันคลังสินค้าของดอนเมืองรองรับได้ 800,000 ตันต่อปี หากลดพื้นที่ลงครึ่งหนึ่งยังรองรับสินค้าได้ถึง 400,000 ตันต่อปี ขณะที่ปัจจุบันมีสินค้าเพียง 10,000 ตันต่อปีเท่านั้นโดยคาดว่าอีก20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ตันต่อปี

ส่วนการพัฒนาในเฟส 3 วงเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 ใหม่ทั้งหมด เปลื่ยนบันไดเลื่อน ระบบสายพานกระเป๋า ซื้อเครื่อง X ray ใหม่และย้ายไปติดตั้งด้านหลังเช็คอิน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยปิดเคาน์เตอร์เช็คอิน แถว 1-4 ไปให้บริการที่อาคาร2 ที่จะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ จะมีการซ่อมบำรุง (Overlay) รันเวย์ครั้งใหญ่ ปรับปรุงระบบไฟสนามบิน ปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน North Corridor, South Corridor, อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 ,ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่า เพื่อรองรับเครื่องบินที่เปลี่ยนสถานที่บินลง(divert) หรือศูนย์กรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2559 เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารเป็น 39 ล้านคนต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ