โบรกฯแนะ"ซื้อ"CPALL เชื่อเคอร์ฟิวไม่กระทบพื้นฐานกลับเป็นโอกาสเพิ่มยอดขาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 27, 2014 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มองได้รับผลกระทบจำกัดจากการประกาศเคอร์ฟิว เพราะเป็น Off peak ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในทางกลับกันได้ประโยชน์ในแง่ที่ประชาชนแห่ซื้อสินค้าเพื่อตุนไว้จากการที่มีสาขากว่า 7,000 สาขาทั่วประเทศมีความสะดวกต่อการซื้อมากกว่าห้างสรรพสินค้าใหญ่

ทั้งนี้ ยอดขายช่วงกลางคืนของ CPALL คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดขายรวม ดังนั้น ราคาหุ้นที่อ่อนตัวจึงเป็นโอกาสซื้อลงทุน โดยคงคาดการณ์กำไรปีนี้ที่ 14,000 ล้านบาท เติบโต 35% จากปีก่อน

          โบรกฯ                      คำแนะนำ              ราคาพื้นฐาน(บาท)

          บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)          ซื้อ                    54.25
          บล.ทรีนิตี้                     ซื้อ                    56
          บล.เอเซียพลัส                 ซื้อ                    50
          บล.เคเคเทรด                 ซื้อ                    52
          บล.ธนชาต                    ซื้อ                    58
          บล.ทิสโก้                     ถือ                    44

น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)มองว่า ผลกระทบจากเคอร์ฟิวส์อาจมีบ้างแต่ไม่มากเพราะยอดขายในช่วงกลางคืนเป็นรายได้ไม่มากของบริษัท มองในทางกลับกันการที่มีสาขากระจายไปทั่ว 7,000 กว่าแห่ง อย่างน้อยสาขาใกล้บ้านผู้บริโภควิ่งซื้อได้ จึงมองยอดขายยังไปได้ดี

นอกจากนี้ จากเดิมจะเจอปัจจัยลบในไตรมาส 4 และ ไตรมาส 1 ที่อากาศค่อนข้างหนาว รับผลกระทบยอดขายไอศครีมกับน้ำดื่มน้อยลง แต่ปลายไตรมาส 1/57 ที่ผ่านมา อากาศร้อนมากน่าจะทำรายได้ได้ดีขึ้นและทำให้มาร์จิ้นดีขึ้นด้วย

"รายได้ช่วงเคอร์ฟิวไม่ถึง 10% เพราะจริงๆ กลางคืนคนจะไม่เยอะ คนจะเข้าเป็นพวกนักเรียน ส่วนคนทำงานจะเข้าระหว่างวันเยอะกว่า ในแง่ราคาหุ้นก็ค่อนข้างนิ่งไม่ได้ปรับลงมาก"น.ส.ศศิกร กล่าว

น.ส.เกษ ตวงทอง นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ช่วงเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 5 ไม่น่ากระทบต่อยอดขาย CPALL มากนัก เพราะช่วงเวลานั้นปกติไม่ใช่ไพร์มไทม์ ขณะที่ผู้บริโภคกลับจะซื้อสินค้าเพื่อกักตุนไว้มากขึ้น เทียบเคียงเหตุการณ์เคอร์ฟิวเมื่อปี 53 ร้าน 7-ELEVEN ได้อานิสงส์จากการที่คนมากักตุนสินค้า และจากที่ 7-ELEVEN มีสาขามาก เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคสะดวกเข้าไปซื้อสินค้ามากกว่าที่จะไปห้างใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้น CPALL ได้ประโยชน์มากกว่าได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ คาดว่า CPALL กำไรทั้งปีที่ 14,000 ล้านบาท น่าจะเติบโต 35% จากปีก่อน

"ยอดขายในช่วงที่ปิดต่อวันไม่เกิน 10% ไม่น่ากระทบมาก" น.ส.เกษ กล่าว

บทวิเคราะห์ของ บล.เคเคเทรด ระบุว่า หลังเที่ยงคืนเป็นช่วง Off peak ของร้าน แม้มองว่า CPALL จะได้รับผลกระทบจากเคอร์ฟิวมากสุดในกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากต้องปรับเวลาให้บริการจากเดิม 24 ชม.แต่ทั้งนี้ ช่วงเวลาเคอร์ฟิวถือเป็น Off peak ของร้านเซเว่นฯ หากประเมินจากยอดขายเฉลี่ยต่อวันต่อสาขาที่ 75,953 บาทในไตรมาส 1/57 ประกอบกับ บริษัทระบุว่ายอดขายหลังเวลา 24.00 น มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายเฉลี่ยต่อวัน ส่วนกรณีต้องปรับเวลาส่งสินค้าให้ร้านเซเว่นฯ จากช่วงกลางคืนเป็นช่วงกลางวัน คาดว่าจะกระทบค่าขนส่งไม่มาก เนื่องจากมีระบบบริหารสินค้าที่ดี

ประเมินว่าหากยอดขายในสาขาเดิม(SSSG) ลดลงทุก 1% กระทบมูลค่าเหมาะสม 0.20 บาท หากเทียบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองช่วง เม.ย.53 และมีการประกาศเคอร์ฟิวพบว่า SSSG ใน 2Q53 ลดลงราว 1.7% จาก 1Q53 ขณะที่รายได้ร้านเซเว่นฯ เพิ่มขึ้น 4% QoQ จากการเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้น 102 สาขา อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน SSSG ลดลงทุก 1% จากสมมติฐานปีนี้ที่ 6% จะกระทบกำไรสุทธิของ CPALL ประมาณ 1% ของประมาณการปีนี้ และกระทบมูลค่าเหมาะสม 0.20 บาท

CPALL ยังเป็นหุ้นลงทุนที่น่าสนใจ มองการอ่อนตัวลงของราคาหุ้นเป็นโอกาสลงทุน ยังคงประมาณการปีนี้และมูลค่าเหมาะสม 52 บาท

ด้าน บล.เอเซียพลัส คาดว่า ยอดขายในช่วงเวลากลางคืนน่าจะมียอดขายราว 12-15% ของยอดขายรวมแต่ละวัน หรืออยู่ที่ราว 8 หมื่นบาท/สาขา/วัน หรือคิดเป็นยอดขายที่หายไปทั้งหมดจะราว 9.6 พันบาท-1.2 หมื่นบาท/สาขา/วัน และเมื่อคิดรวมจากสาขาทั้งหมดราว 7,651 แห่ง คาดว่า CPALL จะมียอดขายที่หายทั้งหมดราว 73-91 ล้านบาท/วัน ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.04% ของยอดขายทั้งปีที่ราว 2 แสนล้านบาท อาจจะไม่มีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับระยะเวลาของการประกาศใช้กฎเคอร์ฟิว เช่น ปี 53 ประกาศใช้ราว 4 วัน หากระยะเวลาไม่นานก็อาจจะไม่ต้องปรับประมาณการลงแต่อย่างใด

ส่วน บล.ทิสโก้ มองเช่นเดียวกันว่า ยอดขายช่วงเวลา 4 ทุ่ม-ตี 5 คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดขายทั้งวัน นอกจากนี้ ยังชดเชยได้จากการที่คนหันมาตุนสินค้าจากร้านค้าปลีกใกล้บ้าน

หากยอดขายของ CPALL เปลี่ยนแปลง 1% จะกระทบผลประกอบการ 5% อ้างอิงยอดขายเฉลี่ยต่อวันที่ 7.5 หมื่นบาท/สาขา และมีสาขา 7.6 พันสาขา ยอดขายที่ลดลง 10% ในช่วง 4 ทุ่ม-ตี 5 จะทำให้ยอดขายของ CPALL ลดลง 58 ล้านบาท/วัน หรือ 1.7 พันล้านบาท หากสถานการณ์ยาวนานถึง 30 วัน (คิดเป็น 0.5% ของยอดขายในปี 57F)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ