ก.ล.ต. สนับสนุน บลจ. จัดตั้งกองทุนการออมหลังเกษียณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 20, 2014 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. สนับสนุนให้ บลจ.จัดตั้งกองทุนการออมหลังเกษียณ (Post retirement fund) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการบริหารเงินสำหรับผู้เกษียณอายุ ที่ต้องการมีรายได้ประจำต่อเนื่องหลังเกษียณ และมีเงินเพิ่มพูนขึ้นจากเงินที่ได้รับตอนเกษียณ โดยลงทุนที่ไม่เสี่ยงสูงมาก แต่ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเหมาะกับผู้เกษียณอายุที่มีความรู้ด้านการลงทุนไม่มากนักหรือต้องการผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลบริหารเงินให้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนประเภทนี้น้อยมาก ขณะที่จำนวนผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ในด้านการเงิน

กองทุนการออมหลังเกษียณจะขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เกษียณอายุหรืออายุมาก เช่น 55 ปีขึ้นไปและนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงไม่สูงมากเป็นหลัก ได้แก่ พันธบัตร ตราสารหนี้ และเงินฝาก โดย บลจ. อาจกำหนดรูปแบบและระยะเวลาจ่ายเงินและให้ผู้ลงทุนเลือกตามความต้องการ หรืออาจเปิดให้ผู้ลงทุนกำหนดเองก็ได้ เช่น ขอรับ 5,000 บาท ทุกเดือนไปจนถึงอายุ 80 ปี หรือ 10,000 บาท ทุกไตรมาสไปจนถึงสิ้นอายุขัย สำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุสามารถนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปลงทุนต่อในกองทุนการออมหลังเกษียณ เพื่อให้มีรายได้ประจำและต่อเนื่อง ซึ่งกองทุนอาจเสนอสิทธิพิเศษเพิ่มเติมนอกจากผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น ประกันสุขภาพ หรือให้สิทธิผู้ถือหน่วยตรวจสุขภาพประจำปี

"การบริหารเงินออมเงินลงทุนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญตลอดทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยทำงานที่ยังสามารถหารายได้อยู่ ควรลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความสามารถและความพึงพอใจในการรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์เอง หรือลงทุนในกองทุนที่จัดสรรสินทรัพย์ลงทุนตามช่วงอายุ (Target Date Fund) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในวัยเกษียณ สำหรับผู้เกษียณอายุควรบริหารเงินที่ได้รับจากกองทุนมาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกองทุนการออมหลังเกษียณจะสามารถตอบโจทย์ได้ดี เนื่องจากมีจุดเด่นที่ให้ผู้เกษียณอายุสามารถทยอยถอนเงินต้นและดอกเบี้ยมาใช้ได้ตามที่ต้องการและสม่ำเสมอภายในวงเงินที่มีอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เกษียณอายุใช้เงินก้อนที่มีอยู่จนหมดภายในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งจะทำให้ผู้เกษียณอายุมั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้เพียงพอในระยะที่กำหนด ดังนั้น บลจ. จึงควรใช้โอกาสนี้หาโอกาสทางธุรกิจด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นางดวงมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ