กสทช.ยืนยัน คสช.เรียกเก็บเงินประมูลส่งรัฐไม่กระทบแจกคูปองทีวีดิจิตอล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 10, 2014 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกรณีใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่-ใบอนุญาตประกอบกิจการหลักหักค่าใช้จ่ายต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินนั้น ไม่กระทบกับฏโครงการแจกคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล แต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบว่าจะให้เงินเป็นการสนับสนุนหรือการอนุมัติเป็นงบประมาณ

กสทช.ขอชี้แจงว่าเงินที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาตินั้นจะต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามประกาศของ คสช. โดยเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการนำส่งมายัง กสทช.แล้วจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผนดินต่อไป

"เงื่อนไขของเราครั้งนี้ก็คือการประมูลทีวีดิจิตอลอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการแจกคูปอง แต่ถ้ามีการประมูลอื่นในอนาคต มันจะไม่มีแบบนี้อีกแล้ว ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด โดยภายใต้กรอบวงเงินขั้นต่ำที่เรานำส่งไป 15,900 ล้านบาท เราได้กำหนดไว้แล้วว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะต้องมีการนำเงินไปใช้ในการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกไปส่งระบบดิจิตอล ส่วนขั้นตอนการแจกว่าจะเป็นในปีที่ 1 เท่าไหร่ ปีที่ 2 เท่าไหร่ ตรงนี้เราจะต้องไปชี้แจงต่อ คสช. ว่าโครงข่ายที่ไปถึงจะต้องมีการแจกกี่ล้านครอบครัว เพื่อจัดตั้งงบประมาณได้ถูกต้อง คิดว่าวิธีการงบประมาณไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพียงแต่ว่าการชี้แจงการใช้เงินเป็นเรื่องที่สำคัญ" เลขาธิการ กสทช. กล่าว

สำหรับเงินที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ได้แก่ เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง และเงินที่จะเกิดจากการประมูลในอนาคตทั้งหมด เช่น การประมูลวิทยุดิจิตอล ส่วนเงินที่ยังค้างอยู่ในระบบไม่ว่าเงินที่โอนมาจากเงินกองทุนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)เดิม หรือรายได้อื่นๆที่เข้ามา หาก กสทช.ยังไม่มีแผนการใช้จ่ายเงิน ดังนั้น จึงสามารถให้กระทรวงการคลังยืมเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ แต่ต้องนำเงินที่ยืมมาชดเชยในภายหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ