(เพิ่มเติม) RATCH เล็งเพิ่มเป้ากำลังผลิตแตะ 1 หมื่น MW ในปี 66 หลังเจรจาร่วมทุนเพิ่มทั้งใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 14, 2014 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ์ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)กล่าวว่า บริษัทเตรียมพิจารณาปรับเป้าหมายกำลังการผลิตในปี 66 ให้เป็นมากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากเดิมตั้งไว้ 9.7 พันเมกะวัตต์ หากบริษัทได้เข้าร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าในพม่าได้มากกว่า 1 โครงการ และอาจจะปรับเงินลงทุนเพิ่มเป็น 1.5-2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันใช้เงินลงทุนปีละ 8,000-1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจัดหาเงินทุนจะมาจากเงินกู้และการเพิ่มทุน

ขณะนี้บริษัทมีโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุน 7 โครงการรวมประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการในประเทศ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโคเจนเนอเรชั่นราชบุรี(SPP)ขนาด 100 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานทดแทนเป็นพลังงานขยะชุมชน 2 แห่ง รวม 14.5 เมกะวัตต์ ที่จ.หนองคายและสมุทรปราการ ส่วนในต่างประเทศมี 4 โครงการ ได้แก่ ญี่ปุ่น เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งรวม 39.8 เมกะวัตต์ กัมพูชา เป็นการพัฒนาสายส่งแรงดันขนาด 230 KV ระยะทาง 125 กม และในพม่า เป็นโครงการโรงไฟฟ้า IPP ขนาด 200 เมกะวัตต์

นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวว่า พม่าเป็นเป้าหมายการลงทุนสำคัญของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอสุดท้ายเพื่อประมูลการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาดกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งผลการพิจารณาจะประกาศในเดือนตุลาคมนี้

"การเจรจาร่วมทุน 7 โครงการหากสำเร็จจะส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตทั้งในแง่ของกำลังการผลิตและรายได้ ยืนหยัดความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อย่างมั่นคงและฐานธุรกิจขยายสู่ประเทศใกม่ทั้งญี่ปุ่นกัมพูชาและพม่า โครงการดังกล่าวเป็นความพยายามของบริษัทที่จะผลักดันมูลค่าองค์กรให้เติบโตไปสู่เป้าหมาย 282,000 ล้านบาทในปี 66 หรือเทียบเท่ากำลังการผลิตประมาณ 9,700 เมกะวัตต์" นายพงษ์ดิษฐ์กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวว่า จากการร่วมลงทุนใน 7 โครงการจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่ม 185 เมกะวัตต์ในปี 60-61 ขณะที่ปลายปีนี้ถึงปี 58 จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา 1,189 เมกะวัตต์ จากโครงการหงสา 2 ยูนิต รวม 751.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ดโคเจนเนอเรชั่นหน่วยที่ 1,350 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าสงขลาไบโอแมส 84 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 6,543 เมกะวัตต์

นอกจากนั้น RATCH ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โครงการในประเทศเพื่อนบ้าน ขนาดกำลังผลิตเฉลี่ย 2,000 เมกะวัตต์/โรง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองมะริด ประเทศพม่า คาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือน่าจะสรุปหรืออาจได้ความชัดเจนอย่างน้อย 1โครงการ โดย RATCH มีเป้าหมายจะเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 40-50%

ทั้งนี้ หากผลสรุปการเจรจาเข้าร่วมทุนทั้งหมด 3 โครงการ RATCH ก็อาจจะต้องเพิ่มทุน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่

"การเพิ่มทุนขึ้นกับว่าได้โครงการขนาดใหญ่ แต่ถ้าได้ 1 โครงการก็อาจก็อาจไม่ต้องเพิ่ม"นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้ตั้งเป้าทำโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนให้ได้ 200 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี ล่าสุดบริษัทได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมทุนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับบริษัท อีสเทิร์นเอ็นเนอร์ยี่พลัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดหาขยะหรือวัตถุดิบ ทั้งนี้ RATCH ถือหุ้นสัดส่วน 40% โดยโครงการที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะเฟสแรกที่แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทราปราการ เฟสแรก ขนาด 10 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าใน 2-3 เดือนนี้จะเซ็นสัญญาร่วมทุนกันได้

ส่วนโรงไฟฟ้าขยะเฟส 2 ขนาด 100 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) รวมทั้งต้องขอการสนับสนุนจากทางการเพราะมีปัญหาเรื่องมาเฟียในพื้นที่ นอกจากนี้มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนใน จ.ชุมพร 10 เมกะวัตต์,สงขลา ขนาด 10 เมกะวัตต์,นนทบุรี 30 เมกะวัตต์และจังหวัดอื่นๆ อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ