ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ UV ระดับ “BBB"แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 3, 2014 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ยูนิเวนเจอร์(UV) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ตลอดจนรายได้ประจำที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการสำนักงานให้เช่า และความสามารถในการรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสังกะสีออกไซด์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากผลงานด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีไม่มากเท่ากับผู้ประกอบการอื่นในธุรกิจดังกล่าวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่สูงขึ้นสำหรับการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างซื้อที่ดินกันเป็นอย่างมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553 ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาและส่งมอบคอนโดมิเนียม รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ตามแผนโดยโครงการปาร์ค เวนเจอร์น่าจะเริ่มสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ในขณะที่ฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงเนื่องจากภาระหนี้สินที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังที่จะเห็นความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งรายงานว่า UV ก่อตั้งในปี 2523 เพื่อผลิตสังกะสีออกไซด์ และในปี2543 เริ่มเปลี่ยนไปเน้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยลงทุนในโครงการร่วมทุนกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บางราย และมีการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 20แห่งรวมมูลค่าทั้งสิ้นมากกว่า 17,000 ล้านบาท ในปี 2550 บริษัทอเดลฟอสกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 51.6% ของหุ้นทั้งหมด และ ณ เดือนมีนาคม 2554 มีสัดส่วน 56.4% เจ้าของกิจการของบริษัทอเดลฟอสคือทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ซึ่งยังเป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งภายใต้กลุ่มทีซีซีด้วย

บริษัทเริ่มเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยในปี2550 ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด (Grand U) เป็น 60% Grand U เป็นผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการภายใต้แบรนด์ยู สบาย (U Sabai) และยูดีไลท์ (U Delight) ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง

นอกจากนี้ ในปี 2550 บริษัทยังก่อตั้ง บริษัท เลิศรัฐการ จำกัด (LRK) เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ชื่อ ปาร์ค เวนเจอร์ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานให้เช่าและโรงแรม โดยบริษัทได้ให้เช่าช่วงพื้นที่ในส่วนของโรงแรมแก่บริษัทในเครือของผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ทีซีซี ลักซ์ชูรีโฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (TCCLH) ให้เป็นผู้ลงทุนและบริหารกิจการ บริษัทได้รับค่าเช่าพื้นที่ล่วงหน้าจาก TCCLH จำนวน 1,358 ล้านบาทเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2554 บริษัทจะบริหารพื้นที่เฉพาะในส่วนของสำนักงานเท่านั้น

ยอดขายจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทยูนิเวนเจอร์เพิ่มขึ้นเป็น 3,397 ล้านบาทในปี2553 จาก 1,598 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งเติบโตอย่างมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากความสำเร็จในการเปิดโครงการยู ดีไลท์ @ จตุจักร สเตชั่น รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น1,139 ล้านบาทในปี 2553 จาก 463 ล้านบาทในปี 2552 จากการโอนคอนโดมิเนียมโครงการยูดีไลท์ @ บางซื่อ สเตชั่น และยู สบาย พระราม 4-กล้วยน้ำไท ซึ่งทำให้รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นรายได้หลักของบริษัท (50%) ในปี 2553 ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์ลดลงเป็น 48%

แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะดีขึ้น แต่ก็ยังคงต่ำกว่าผู้ประกอบส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสังกะสีออกไซด์และธุรกิจอื่น ๆ มีอัตรากำไรขั้นต้นเพียง 10% บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเท่ากับ 6.13% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นจาก 0.17% ในปี 2552 และ -0.76% ในปี2551 กระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปี 2551-2553 ได้แรงหนุนจากเงินรับล่วงหน้าค่าก่อสร้างสำหรับโครงการปาร์ค เวนเจอร์จาก TCCLH ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่าในอดีตอันเนื่องมาจากภาระหนี้จากการลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงาน โดย ณ สิ้นปี2553 อยู่ที่ระดับ 31.36% เพิ่มขึ้นจาก 18.86% ในปี 2552 และ 15.34% ในปี 2551

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553 อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2553 ได้รับผลกระทบบางส่วนจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลที่สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2553 ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อไป และส่วนใหญ่มีแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ราคาที่ดินในทำเลที่ดีจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาล ความต้องการที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงวงจรขาขึ้นน่าจะช่วยลดความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรลง และจะส่งเสริมให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นนับจากปี 2554 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ