ทริส เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ GLOW จาก A+ เป็น A แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 10, 2014 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เป็นระดับ “A+" จากเดิม “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

การเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer – IPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) แล้วเสร็จตามแผน รวมถึงฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น และสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ดีและสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามที่วางแผนไว้

GLOW ก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) และธุรกิจ IPP ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น GDF SUEZ ซึ่งเป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกที่ดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงาน ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในทวีปยุโรป

ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 3,188 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 1,525 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Cogeneration 1,663 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี โรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีกแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogeneration ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความเสถียรสูง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุด โดยบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพียงประมาณ 2% ของกำลังการผลิตรวมเท่านั้น

จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 3,188 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,206 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน2,345 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. โดยสัญญาจะมีระยะเวลาคงเหลือระหว่าง 3-25 ปี ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำ รวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้น บริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 65% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (35%)

ในปี 2556 ปริมาณการจ่ายไฟฟ้าสุทธิของโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 9,550 กิกะวัตต์ชั่วโมง อันเป็นผลจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน “เก็กโค่-วัน" ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราการปิดซ่อมฉุกเฉินอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 6.8% เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันประสบปัญหาหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ให้ความร้อนรั่วซึมในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 3 ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้อัตราความพร้อมจ่ายลดลงมาอยู่ที่ 88.4%

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในครึ่งแรกของปี 2557 โดยมีค่าความพร้อมจ่ายที่ 94.5% ส่งผลให้ค่าความพร้อมจ่ายโดยรวมของโรงไฟฟ้า IPP มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 97.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ในขณะที่โรงไฟฟ้า SPP ดำเนินงานอย่างราบรื่นโดยมีค่าความพร้อมจ่ายอยู่ที่ 97.5% ในปี 2556 และลดลงเล็กน้อยลงมาอยู่ที่ 96.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เนื่องจากปิดดำเนินการเพื่อซ่อมบำรุงตามแผน

บริษัทมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้นในปี 2556 และครึ่งแรกของปี 2557 รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการเริ่มดำเนินการของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันในเดือนสิงหาคม 2555 และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ในเดือนธันวาคม 2555 ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายจากโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นเป็น 9,550 กิกะวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นอัตราการเติบโต 33.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายของโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 10,346 กิกะวัตต์ชั่วโมง แม้ว่าความต้องการจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมจะค่อนข้างคงที่ก็ตาม รายได้ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น 21% เป็น 69,207 ล้านบาทในปี 2556 จาก 57,204 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 25.4% ในปี 2556 จาก 21.8% ในปี 2555 โดยสาเหตุหลักเกิดจาก การดำเนินงานของเก็กโค่-วันที่ราบรื่นขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 การเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment Charge -- Ft) และราคาถ่านหินที่ลดลง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 37,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 27.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรในอัตรา 15 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงราคาถ่านหินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 58.0% เหลืออยู่ที่ 55.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 คาดว่าโครงสร้างทางการเงินจะแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง เพราะบริษัทไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 50% หรือเทียบเท่าอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนที่ 1 เท่าภายในปี 2558 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 6.2 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 24.6% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) คาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นตามจำนวนเงินกู้ระยะยาวที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ