ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ของ IVL ที่ระดับ A+ แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 2, 2014 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 2 ระดับ ทั้งนี้ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนนัดการชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ได้ รวมถึงไม่มีกำหนดอายุ ซึ่งเข้าเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities) ของทริสเรทติ้ง โดยผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวจะได้รับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในลำดับต่ำกว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ ของบริษัท แต่จะมีลำดับสิทธิในการรับชำระหนี้เหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้ บริษัทสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้ตามดุลยพินิจ โดยเมื่อบริษัทเลื่อนการชำระดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว บริษัทจะไม่มีสิทธิจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระจะถูกสะสมและนำมาชำระในภายหลังแต่จะไม่นำมาทบเป็นเงินต้นสำหรับการคิดดอกเบี้ยอีก

จากข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ทริสเรทติ้งกำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของ บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส มีระดับความเป็นทุนปานกลาง (Intermediate Equity Content) ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้จะถูกบันทึกจำนวนมูลค่าคงค้างให้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบแล้วของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งจะจัดให้ 50% ของเงินต้นคงค้างของหุ้นกู้เป็นเงินกู้ และให้ 50% ของผลตอบแทนที่ชำระจากหุ้นกู้เป็นดอกเบี้ย สำหรับระดับความเป็นทุนปานกลางนี้จะถูกลดให้มีระดับความเป็นทุนน้อย (0%, Minimal Equity Content) ในวันครบกำหนด 5 ปีนับจากวันออกหุ้นกู้ เนื่องจากอายุคงเหลือจริง (Remaining Effective Maturity) ณ วันดังกล่าวน้อยกว่า 20 ปีตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนของ ทริสเรทติ้ง แม้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้ไม่มีกำหนดอายุ แต่ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าอายุคงเหลือจริงของตราสารจะลดลงเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (Step Up Interest) เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1% จาก Initial Credit Spread ซึ่งในกรณีของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้ กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด 25 ปีนับจากวันออก

แม้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนี้จะไม่มีการกำหนดเวลาชำระคืนเงินต้น แต่บริษัทก็มีสิทธิที่จะไถ่ถอนได้ภายหลังจากสิ้นปีที่ 5 นับจากวันออกหุ้นกู้ หรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุในข้อกำหนดสิทธิ ฯ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิที่จะซื้อคืนหุ้นกู้ในเวลาใดก็ได้ในตลาดรอง ซึ่งหากบริษัทเลือกที่จะซื้อคืนหุ้นกู้นี้ ส่วนที่เหลือจากการซื้อคืนจะถูกพิจารณาเป็นเงินกู้ทั้งจำนวน

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) รวมถึงการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารรวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนอุปทานส่วนเกินจากกำลังการผลิตใหม่ของกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid – PTA) และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของบริษัทได้ก่อให้เกิดภาระหนี้ในระดับสูงและลดทอนฐานะการเงินของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน และบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ รวมถึงรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอเพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งนี้ หากภาวะขาลงของอุตสาหกรรมยังคงดำเนินต่อไปก็อาจเป็นปัจจัยด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

IVL ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 และปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 66.4% บริษัทลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก

ณ 30 มิถุนายน 2557 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 7.38 ล้านตันต่อปี โดยประมาณ 50% เป็นกำลังการผลิตของโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate – PET) 24% เป็น PTA 19% เป็นกำลังการผลิตเทียบเท่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และอีก 7% เป็นกำลังการผลิตเทียบเท่าโมโนเอธิลลีนไกลคอล (Monoethylene Glycol – MEG) ในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์นั้น PTA และ MEG ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์

ปัจจุบัน IVL มีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 16 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป (เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอาฟริกา) รูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มีการผลิตครบวงจร ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาความเสี่ยงของภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่จากประเทศจีนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นสร้างความกังวลต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งส่งผลกดดันต่ออัตรากำไรของบริษัท

สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะขาลงของอุตสาหกรรมห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ แต่แนวโน้มคาดว่าจะดีขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากโรงงานที่มีต้นทุนสูงจะปิดตัวลงซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์และอุปทานกลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้ 125,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 5.0% ในปี 2556 เป็น 6.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557

โดยส่วนหนึ่งสะท้อนอัตรากำไรของ PTA ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น และการกลับมาผลิตของโรงงานผลิต MEG หลังจากหยุดซ่อมบำรุงในระหว่างปี 2556 ในส่วนของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อตันของการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2556 เป็น 89 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 โดยบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 6,852 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 4.5 เท่า

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีเงินกู้รวมจำนวน 82,280 ล้านบาท ลดลงจาก 85,266 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นจาก 58.1% ณ สิ้นปี 2556 เป็น 56.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตสำหรับโครงการเดิมตามแผนซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต PTA ที่เมืองรอทเทอร์ดัม (Rotterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และการปรับปรุงระบบการผลิตโดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Added, HVA) โดยบริษัทวางงบประมาณสำหรับการลงทุนเหล่านี้ประมาณ 16,600 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2560 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 ล้านตัน ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม ประมาณการของทริสเรทติ้งได้เพิ่มงบประมาณสำหรับการซื้อกิจการของบริษัทอีกประมาณ 58,400 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2560 ไว้ด้วย โดยงบประมาณนี้ได้รวมการซื้อกิจการ PHP Fibers GmbH (PHP) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และ Artenius TurkPET ในเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้มีมูลค่าลงทุนรวม 4,063 ล้านบาท

ในอนาคตคาดว่าบริษัทจะมีภาระเงินกู้เพิ่มมากขึ้นจากการซื้อกิจการ สำหรับการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Warrants) ของบริษัทจำนวน 2 ชุดนั้น หากมีการใช้สิทธิ ก็จะช่วยให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนจัดการภาระหนี้เพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า 1.0 เท่าให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท ส่วนสภาพคล่องนั้นคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานมากกว่า 13,000 ล้านบาทในปี 2558 หลังจากที่กำลังการผลิตส่วนขยายใหม่ ๆ เริ่มดำเนินงาน ซึ่งเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับดังกล่าวยังคงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีภาระหนี้ครบกำหนดในปี 2558 จำนวน 5,800 ล้านบาท ในปี 2559 จำนวน 11,800 ล้านบาท และในปี 2560 อีก 13,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ