CPALL ดึงคนรุ่นใหม่เปิดเฟรนไชส์"เซเว่นฯ"เพิ่ม จับมือสมาคม-สสว.จัดกิจกรรมหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 8, 2014 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอนิษฐา ธนมิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL)ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ"เซเว่นอีเลฟเว่น" กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายในการขยายสัดส่วนสาขาแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่สู่การเป็นเถ้าแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มต้องการมีธุรกิจของตัวเองมากขึ้น โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าสิ้นปี 57 มีสาขาแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่มเป็น 4,500 สาขา หรือเพิ่มขึ้น 9% จากปี 56 ที่มีอยู่กว่า 4,000 สาขา โดยในไตรมาส 4/57 จะมีการเปิดอีกไม่เกิน 100 สาขา ก็ครบตามเป้าหมาย จากนั้นในปี 58 จะเปิดเพิ่มอีก 300-400 สาขา

ทั้งนี้ สาขาแฟรนไชส์ 4,500 สาขา คิดเป็นสัดส่วน 56% ของสาขาร้านเซเล่นอีเลฟเว่นทั้งหมดในประเทศไทย

จุดแข็งของแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น มาจากประสบการณ์การดำเนินงานที่มากว่า 20 ปี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญวางระบบ มีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการ รวมถึงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษากับเจ้าของร้านเฟรนไชส์ นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเงินลงทุนในการเปิดสาขาแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อสาขา และช่วงที่ผ่านมามีผู้มารับเฟรนไชส์ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ให้ความสนใจ 250-300 รายต่อเดือน

“จากการบริหารแฟรนไชส์เซเล่น อีเลฟเล่นมากกว่า 20 ปี จึงทำให้บริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการวางระบบแฟรนไชส์ มีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการ รวมถึงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษากับเจ้าของร้านแฟรนไชส์ ซึ่งการทำธุรกิจแฟรนไชสืให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากความตั้งใจจริงแล้วยังต้องมีใจรักการบริการ มีความอดทน ดังนั้นทักษะด้านการบริการที่ดี จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ"นางสาวอนิษฐา กล่าว

ด้านนางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย กล่าวว่า สมาคมแฟรนไชส์ไทย ได้ร่วมมือกับ CPALL และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกันจัดงาน Key success The Best Franchise ในวันเสาร์ที่ 8 พ.ย. 57 ที่ ฮอลล์ 1 และ 2 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. เพื่อเปิดประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการเป็นเถ้าแก่แฟรนไชส์ยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ

"ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นยุคดิจิทอลที่แตกต่างจากรุ่นก่อน คือ คนรุ่นใหม่ยุคนี้สามารถเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุน้อยและสร้างความสำเร็จได้เร็ว แฟรนไชส์เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อเป็นทางลัดเพื่อเข้าสู่การเป็นเถ้าแก่รุ่นใหม่ได้ทันที"นางสาวสมจิตร กล่าว

ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 400-500 บริษัท ไม่นับรวมบริษัทจากต่างประเทศที่มีการขยายสาขาแฟรนไชส์ด้วยตัวเอง แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก 90 กิจการ ธุรกิจการศึกษา 60 กิจการ ธุรกิจกร้านกาแฟ 50 กิจการ ธุรกิจบริการ 40 กิจการ ธุรกิจร้านชานมไข่มุก 35 กิจการ ธุรกิจร้านเบเกอร์รี่ 30 กิจการ ธุรกิจร้านอาหารและภัตราคารที่มีการลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาท 25 กิจการ ธุรกิจค้าปลีก 25 กิจการ ธุรกิจร้านไอศกรีม 20 กิจการ ธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่างเช่น น้ำผลไม้ 15 กิจการ ธุรกิจสุขภาพและความงาม 12 กิจการ และอื่นๆ 5 กิจการ รวมทั้งหมดมีกิจการแฟรนไชส์ 407 กิจการ

นางสาวสมจิตร กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 58 คาดว่าธุรกิจที่อยู่ในระบบปัจจุบันจะมีรายได้เติบโตขึ้นมากกว่า 20% เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในธุรกิจเอสเอ็มอีเช่นกัน จึงทำให้ในปีหน้าธุรกิจแฟรนไชส์น่าจะเติบโตค่อนข้างสดใสมากกว่าปีนี้

นายวีระยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยอยู่ที่ 2.76 ล้านราย สามารถขับเคลื่อนจีดีพีในประเทศได้กว่า 36% แต่ยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถขับเคลื่อนจีดีพีถึง 40-50% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปฏิรูป สสว.ให้มีคณะกรรมการบริหารงานเพียงชุดเดียว จากเดิมที่มี 2 ชุด และได้มีการบูรณาการให้ทุกกระทรวงด้านเศรษฐกิจเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อช่วยผลักดันและส่งเสริมการบริหารงานของสสว.ให้ดียิ่งขึ้น และมีเป้าหมายในปีนี้ที่จะผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสามารถในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศเพิ่มเป็น 38% ภายในปีนี้

สสว.ได้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบูรณาการการบริหารงานและการบริการของภาครัฐเพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเอสเอ็มอี โดยการปรับปรุงฐานข้อมูลเอสเอ็มอีแห่งชาติ การขึ้นทะเบียนธุรกิจเอสเอ็มอีกับทางภาครัฐ 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจเกษตร พร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นซัพพลายด์เออร์ในการจัดซื้อ-จัดจ้างของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีอีกทางหนึ่ง 2. การพัฒนาศักภาพตามวงจรของธุรกิจเอสเอ็มอีตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินกิจการจนถึงการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ โดยจะมีการให้ข้อมูลและการอบรม

3. การส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าและการทำการวิจัยและพัฒนา ประกอบกับการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่จดจำ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาช่วยให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว 4. การเชื่อโยงโครงข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าสุ่ระบบมากขึ้น และการออกกฏเกณ์ในการให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมต่างๆ โดยภาครัฐจะป็นตัวช่วยในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกัน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอีแห่งชาติใน 5 ภูมิภาค ที่จะเริ่มภายในปี 58 เพื่อป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนไปทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ