PTT เช็คลิสต์จัดการธุรกิจตัวถ่วง-หวังรัฐปรับนโยบายปลดแอกเสริมแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 10, 2014 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บมจ.ปตท.(PTT)ให้สัมภาษณ์กับ(อินโฟเควสท์)ถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญของ ปตท.คือ Strong หลังถูกบีบด้วยนโยบายพลังงานของภาครัฐที่ส่งผลให้เกิดภาระขาดทุน และซ้ำมีธุรกิจตัวถ่วงที่เกิดจากการลงทุนผิดพลาดในอดีต ทำให้การผลกำไรไม่เติบโตสอดคล้องกับการขยายการลงทุนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมกับการเดินหน้าแยกกิจการที่มีอนาคตส่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ

นายปิยะสวัสดิ์ กล่าวว่า แม้ ปตท.จะเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ผลกำไรกลับแกว่งตัวอยู่ในระดับ 90,000 -100,000 ล้านบาทเท่านั้น และอัตรากำไรสุทธิ(Net Profit Margin)ก็ปรับลดลงมาตลอด จากที่เคยอยู่ระดับ 7% มาอยู่ที่ 3-4% ในปัจจุบัน ทำให้น่าเป็นห่วง

"ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่คิดว่า ปตท.รวย ถ้า ปตท.รวยก็สามารถจะรับภาระทางสังคมได้ แต่ที่ซวยคือรับภาระทางสังคมแล้วยังถูกด่าด้วย...ถ้า ปตท.ยังถูกถ่วงแบบนี้ ปตท.ก็ไม่สามารถมีความเข้มแข็งไปต่างประเทศเพื่อหาแหล่งพลังงานให้เกิดความมั่นคงได้"ประธานกรรมการ PTT กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลประกอบการของ ปตท.ถูกถ่วงด้วยการลงทุนในอดีตที่ให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า เช่น โครงการสวนปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มดิบในอินโดนีเซีย ผ่าน บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่(PTTGE)ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าไปซื้อที่ดิน 5 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1.96 แสนเฮกตาร์ หรือประมาณ 1.2 ล้านไร่ เป็นเงินลงทุนของ ปตท.ทั้งหมด

การลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ไม่รอบคอบ จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เข้ามาตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือใหม่ ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดใหม่ได้เข้ามาแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยพยายามจะขายกิจการบริษัทนี้ออกไป เพราะเห็นว่า ปตท.คงไม่เหมาะกับการทำธุรกิจลักษณะแบบนี้ ประกอบกับ การทำสวนปาล์มขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียมีโอกาสประสบกับปัญหาในด้านต่างๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นโครงการลงทุนที่ผิดพลาด ได้แก่ โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ ที่ผลการลงทุนไม่คุ้มค่า แต่ไม่สามาถรยกเลิกได้ เพราะลงทุนไปแล้วผ่าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) แต่ล่าสุด PTTEP ได้สวอปสินทรัพย์กับ Statoil ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนโครงการนี้ โดย PTTEP เข้าถือสัดส่วน 100% และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่ง Thornbury, Hangingstone และ South Leismer ขณะที่ Statoil ถือสัดส่วน 100% และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่ง Leismer และ Corner ทั้งนี้เพื่อชะลอการลงทุนโครงการนี้ออกไปก่อน

นอกจากนี้ ปตท.จะขายหุ้นใโรงกลั่น 2 แห่งคือ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง(SPRC)และบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการใหม่ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่า นอกจากนั้น ยังอยู่ระหว่างหารือกับที่ปรึกษาการเงินเพื่อแยกธุรกิจค้าปลีกออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่เช่นเดียวกับธุรกิจท่อส่งก๊าซ ซึ่งมีแนวโน้มจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กิจการ

"เบื้องต้นก็อาจจะดี เพราะมูลค่ามากกว่าที่ตลาดให้ ปตท.ตอนนี้ก็เป็น Holding ที่ราคา discount อยู่แล้ว และมีการแข่งขันไม่มากแล้ว เพราะรัฐบีบเรื่องค่าการตลาดทำให้คนไม่อยากมีคนตั้งสถานีบริการน้ำมัน"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

จากนี้ไปการลงทุนใหม่ของ ปตท.จะดำเนินการด้วยความรอบคอบมากชึ้น โดยขณะนี้มีขั้นตอนของบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดูแลการลงทุนให้ละเอียดมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการของฝ่ายบริหาร ซึ่งหากเป็นโครงการใหญ่หรือโครงการสำคัญก็จะมีคณะกรรมการเข้าร่วมพิจารณาด้วย รวมทั้งโครงการใหญ่ที่ลงทุนผ่านบริษัทลูกจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

"จุดอ่อนอีกอย่าง คือโครงการที่ไม่ได้ใช้เงินกู้ก็จะขาดการตรวจสอบ ไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก แต่ถ้ากู้เงินธนาคารก็มาตรวจสอบละเอียดขึ้น ดังนั้น การลงทุนอย่างนี้ควรหลีกเลี่ยงในอนาคต...ไม่ใช่บริษัทลูกจะลงทุนอะไรก็ได้ ที่ผ่านมาบริษัทลูกตัดสินใจโครงการลงทุนเอง"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญที่กดดันผลประกอบการของปตท.มานาน คือ การดำเนินตามนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงเพื่อปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ ปตท.แข็งแรง

นอกจากนี้ นโยบายรัฐที่ไม่มีการตัดสินใจด้านพลังงาน ทั้งการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ชะลอมาหลายปี กลายเป็นตัวถ่วงปตท.และทั้งภาพรวมประเทศ ซึ่งหากไม่รีบตัดสินใจแต่เนิ่นๆ จะมีปัญหาต่อการผลิตพลังงานของไทย รวมทั้งการต่ออายุสัมปทานแปลงที่ดำเนินการอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้ PTTEP เป็นเจ้าของแหล่งอาทิตย์และแหล่งบงกช

"ถ้าไม่ตัดสินใจจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมต่ำลงจะส่งผลกระทบต่อ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซ และจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย อีกทั้งการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทย-กัมพูชาก็ดำเนินการล่าช้าก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซของประเทศเช่นกัน"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

อนึ่ง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ปตท.ภายใต้วิสัยทัศน์การก้าวขึ้นสู่บริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1)BIG เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่โดยจะต้องรักษาอันดับ 1 ใน 100 ของบริษัทที่มียอดขายของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Fortue 100 2)LONG เป็นบริษัทที่มีการเติบโตยั่งยืน โดยจะต้องบรรลุกเป้าหมายดัชนีด้านความยั่งยืนของกิจการของดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability :DJSI) และ 3) STRONG เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีผลประกอบการอยู่ในระดับชั้นนำของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ