KTIS เผยน้ำตาล-เอทานอลหนุนกำไร Q3/57 โต 76%, ปี 58 ขยายธุรกิจครั้งใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 11, 2014 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น(KTIS) หรือเคทิส เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/57 บริษัท ยังคงมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยจากงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 5,150.3 ล้านบาท เติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 56 ซึ่งมีรายได้ 4,172.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 220.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่โดดเด่นที่สุดก็คือรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยเมื่อเทียบไตรมาส 3 ปีนี้กับปี 56 พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 34% เนื่องจากยอดส่งออกน้ำตาลมากขึ้น (ลูกค้าต่างประเทศมารับน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้น) ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 19.3% จาก 292.9 ล้านบาท เมื่อไตรมาส 3 ปี 56 ก็สามารถทำได้ถึง 349.3 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ปีนี้" นายประพันธ์ กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 57 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 1,386.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสามารถจำแนกสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้ดังนี้ การผลิตและจำหน่ายน้ำตาล 74.2% การขายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 10.0% การผลิตและจำหน่ายเอทานอล 9.0% ไฟฟ้าชีวมวล 3.8% และอื่นๆ 3.0%

ทั้งนี้ ด้วยความพร้อมของกลุ่มเคทิส ทั้งในด้านของฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และนิสชิน ชูการ์ กลุ่มเคทิสจึงได้มีแนวทางในการขยายงานในหลายด้านด้วยกัน ทั้งในสายธุรกิจน้ำตาล และสายธุรกิจชีวพลังงาน ในสายธุรกิจน้ำตาลนั้นได้มีโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่บริเวณโรงงานน้ำตาลของเคทิส จ.นครสวรรค์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 980 ล้านบาท มีกำลังการผลิตน้ำเชื่อม 400 ตัน (400,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ 500ตัน (500,000 กิโลกรัม) ต่อวัน คาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มผลิตน้ำเชื่อมออกจำหน่ายได้ในช่วงกลางปี 2558

ในสายธุรกิจชีวพลังงาน ก็ได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลอีก 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวมเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 แห่งจะอยู่ในพื้นที่ติดกับโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเชื้อเพลิงชานอ้อยที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ใช้เงินลงทุนประมาณโรงละ 960 ล้านบาท และยังมีโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพอ้อยอีกด้วย

“โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 2 โครงการนี้ จะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำแรงดันต่ำ เมื่อเทียบจำนวนเชื้อเพลิงเท่าๆ กัน โดยคาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 58" นายประพันธ์กล่าว

สำหรับกรณีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ(ไบโอฮับ)นั้น กลุ่มเคทิสมีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบของไบโอฮับ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ที่ KTIS Complex จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีทั้งโรงงานน้ำตาลทราย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โรงผลิตเอทานอล โรงผลิตเยื่อกระดาษ ดังนั้น การเกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในคอมเพล็กซ์ของเคทิส ในรูปแบบของไบโอฮับจึงมีความเป็นไปได้สูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ